ไม่พบผลการค้นหา
Voice TV ชวน หมอรัฐระวี พัฒนรัตนโมฬี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น มาคุยถึงข้อจำกัดของระบบแพทย์ฉุกเฉินในไทย

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพียงเสี้ยววินาทีก็อาจตัดสินชีวิตของคนที่คุณรักได้ จึงมีความพยายามที่จะเพิ่มเสี้ยววินาทีนั้นให้นานขึ้นด้วยนวัตกรรม Voice TV ชวน หมอรัฐระวี พัฒนรัตนโมฬี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น และ นายกิจ���มน ไมตรี นักพัฒนาแอพพลิเคชัน A-Live มาคุยถึงข้อจำกัดของระบบแพทย์ฉุกเฉินในไทย และ การนำนวัตกรรม AOC มาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการสื่อสารในระบบรถพยาบาล

หมอรัฐระวี เริ่มต้นอธิบายถึงระบบแพทย์ฉุกเฉินของไทยในปัจจุบัน ที่ส่วนหนึ่งขึ้นตรงกับโรงพยาบาลรัฐ ส่วนหนึ่งขึ้นกับท้องที่ เช่น หน่วยกู้ชีพ และอีกส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมให้บริการภายใต้เบอร์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งหากมีอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ศูนย์ 1669 จะทำหน้าที่ประเมินว่าผู้ป่วยอยู่ใกล้จุดใด และจะส่งรถพยาบาลที่ใกล้ที่สุดไปรับ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“ถ้ามีผู้ป่วยฉุกเฉินโทรมา 1669 เรื่องสิทธิการรักษา เราไม่ได้ถามเลย ไม่ถามว่าผู้ป่วยมีหลักประกันสุขภาพอะไร เพราะว่าการช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้น เป็นหลักกฎหมายและจริยธรรมที่มนุษย์ทุกคนพึงมี”

Voice TV ถามถึงปัญหาของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในไทย หมอรัฐระวีมองว่า คนไทยยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉิน “เรามีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ฉุกเฉินมาก มาใช้บริการห้องฉุกเฉิน ทำให้เกิดความแออัดในห้องฉุกเฉิน ส่งผลให้คนที่ฉุกเฉินจริง ๆ วิกฤติต่อชีวิตจริง ๆ ได้รับบริการล่าช้า ซึ่งตรงนี้ต้องมีการปรับความเข้าใจกับประชาชนใหม่”

นอกจากนี้ บุคลากรเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินยังมีจำกัด “ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินไว้ ประเทศไทยต้องการแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างน้อย 2,000 คน แต่ตอนนี้เรามีไม่ถึง 1,000 คน” หมอรัฐระวีให้เหตุผลว่า เนื่องจากเป็นสาขาวิชาชีพใหม่ ที่มีการจัดหลักสูตรขึ้นมาเพียง 10 ปี ทำให้จำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ

ในขณะที่ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในต่างประเทศมีความแตกต่างออกไป “ต้องบอกก่อนว่าระบบฉุกเฉินของแต่ละประเทศ มันถูกพัฒนาขึ้นจากบริบทที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศส ห้องฉุกเฉินจะไม่มีประชาชนที่อยู่ดี ๆ วิ่งเข้ามา คนไข้ที่สามารถเข้าห้องฉุกเฉินได้คือ คนไข้ที่มาด้วยระบบรถพยาบาลเท่านั้น จะไม่มีคนไข้ที่เดินมาเอง ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรองคนไข้ฉุกเฉินได้จริง ๆ และสามารถให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง”

หมอรัฐระวียังเล่าให้ฟังอีกว่า ในประเทศฝรั่งเศส ทุกครั้งที่ออกเหตุฉุกเฉินต้องมีหมอไปกับรถพยาบาล แต่ประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านบุคลากร จึงทำเช่นนั้นไม่ได้ การอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงกลายมาเป็นคำตอบ

ระบบ AOC (Ambulance Operation Center) หรือ ระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ จึงเข้ามาเป็นจุดเชื่อมให้หมอที่โรงพยาบาลสามารถสั่งการออนไลน์ไปยังเจ้าหน้าที่บนรถพยาบาลเพื่อทำการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินได้ (ตามกฎหมายการรักษาพยาบาลบนรถพยาบาลต้องทำการภายใต้คำสั่งของแพทย์)

หมอรัฐระวีเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนการสื่อสารทำได้แค่เสียง ในขณะที่ภาพไม่มีความคมชัด แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวมาถึงจุดนี้ บวกกับความสามารถของนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ ทำให้การสื่อสารระหว่าง ผู้ป่วย-รถพยาบาล-แพทย์ที่โรงพยาบาล เป็นไปได้ง่ายขึ้น ผ่านระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ หรือ AOC

เมื่อพบอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉิน เราสามารถแจ้งเหตุผ่านแอพพลิเคชัน A-Live ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบรถพยาบาล ศูนย์สั่งการจะสั่งรถพยาบาลที่ใกล้ที่สุดมารับผู้ป่วย และประเมินว่าอีกกี่นาทีรถจะถึงโรงพยาบาล นอกจากนี้ภายในรถพยาบาลยังมีคอนเฟอเรนซ์คอล(Conference Call) ระบบส่งภาพจากภายในรถพยาบาล และระบบส่งข้อมูลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์(real time) เช่น ความดันโลหิต และสัญญาณชีพอื่นๆ รวมทั้งประวัติการรักษา* กลับมายังโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัย และสั่งการรักษา รวมทั้งเตรียมการรักษา เมื่อมาถึงโรงพยาบาล

แต่กว่าจะได้ระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ไม่ใช่เรื่องง่าย นักพัฒนานวัตกรรมอย่างนายกิจกมน ไมตรี ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด บอกกับ Voice TV ว่า ต้องฟันฝ่ากับกฎระเบียบของภาครัฐที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

“อย่างการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ มันจะมีระเบียบจัดซื้อจัดจ้างอยู่ ทีนี้งานนวัตกรรมที่เราทำอยู่ มันไม่มีอยู่ในระเบียบ เพราะนวัตกรรมคือสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น” นายกิจกมนกล่าว

นอกจากนี้ความคิดที่ว่า นวัตกรรมไทยสู้ของต่างชาติไม่ได้ เป็นกำแพงอีกชั้นที่ขวางนักพัฒนานวัตกรรมไทย “เราผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์มาสักตัวที่เหมือนกับของเมืองนอกเลย แก้ปัญหาของหมอได้เหมือนกัน แต่ของเมืองนอกอาจได้รับการพิจารณามากกว่า เพราะเขามี certificate มีเซลส์(sales) คอยดูแล แต่พอของบ้านเราพัฒนาขึ้นมาเองบ้าง เขากลับมองว่ามันจะใช้ได้จริงเหรอ”

นายกิจกมนมองว่า การรับเทคโนโลยีต่างชาติมาใช้นอกจากไม่ได้ตามความต้องการที่เหมาะกับการใช้งานในไทยแล้ว ยังทำให้การพัฒนาองค์ความรู้ของคนไทยในเรื่องนวัตกรรมเป็นไปได้ยาก ซ้ำคนไทยยังต้องใช้เทคโนโลยีที่มีราคาแพง “ทุกอย่างเราผลิตเอง ทำเองหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์(Hardware) จนถึง ซอฟแวร์(Software) เราพัฒนาเอง เราคิดเอง เราคุยกับหมอจนได้ความต้องการมา เราทำอยู่บนพื้นฐานที่มีอยู่จริงทั้งหมด ตรงตามความต้องการของแพทย์ 100% เพราะฉะนั้นต้นทุนในการทำเริ่มแรกอาจจะสูงหน่อย แต่พอเสร็จแล้ว เสถียรแล้ว มันสามารถผลิตซ้ำหรือสามารถเอาระบบที่มีอยู่แล้วไปประยุกต์กับที่อื่นหรือพัฒนาต่อได้”

เทคโนโลยีแบบ AOC หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาค่อนข้างสูง สำหรับระบบ AOC ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย ในประสิทธิภาพที่เท่ากัน ตอบโจทย์ความต้องการของแพทย์ได้มากกว่า กลับมีต้นทุนที่ถูกกว่าเกินครึ่ง  

ขณะนี้จังหวัดนำร่องที่พัฒนาระบบ AOC มีอยู่ด้วยกัน 6 จังหวัด คือ ขอนแก่น อยุธยา เชียงราย ปราจีนบุรี ภูเก็ต และ กรุงเทพฯ ที่ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ในส่วนของจังหวัดขอนแก่น ตามสถิติ จังหวัดขอนแก่นมีคนโทรเข้ามาสายด่วน 1669 จำนวน 300 สายต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะเกินกว่าศักยภาพที่แพทย์จะรับมือไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขอนแก่นก็ยังเป็นจังหวัดที่มีการออกให้บริการฉุกเฉินมากที่สุดในประเทศไทย คือ 120,000 ครั้งต่อปี  

ในอนาคตหมอรัฐระวีมองว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะไม่หยุดอยู่เฉพาะการทำงานเชิงรับเพียงอย่างเดียว จะไม่รอให้ผู้ป่วยฉุกเฉินโทรหาเพียงอย่างเดียว แต่อยากทำงานเชิงรุกด้วย หมอจะเข้าหาผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นสายรัดข้อมือติดตัวผู้ป่วย ทำหน้าที่ตรวจวัดค่าสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าออกซิเจนในกระแสเลือด ถ้าวัดได้ค่าที่ผิดปกติ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนไปยังศูนย์สั่งการให้โรงพยาบาลทราบ หมอจะโทรถามอาการผู้ป่วยทันที เพราะในหลายกรณีผู้ป่วยรุนแรงเฉียบพลัน ไม่มีแม้โอกาสจะยกโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล

หมอรัฐระวียังมองไกลไปอีกว่า ในอนาคตประเทศไทยควรทำ Big Data ในระบบสาธารณสุข เพื่อนำมาวิเคราะห์ระบบสุขภาพของคนไทย หรือนำเทคโนโลยี อย่างระบบ Telemedicine มาใช้ “พยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตรวจร่างกายคนไข้ วัดความดัน และส่งข้อมูลออนไลน์มาให้หมอในโรงพยาบาลที่อยู่ในตัวเมืองได้ เพราะฉะนั้นหลังจากที่ระบบ AOC ก้าวไกลในการแพทย์ฉุกเฉิน ก็จะไปสู่เรื่องของระบบการรักษาปฐมภูมิ”

“คือเราขาดแพทย์ ทำให้ต้องใช้แพทย์ส่วนกลางให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยการใช้เทคโนโลยีสื่อสารเชื่อมหมอในเมือง เข้ากับคนไข้ในชนบท เพื่อลดช่องว่างให้แคบลง” หมอรัฐระวีทิ้งท้าย


*ผู้ใช้แอพพลิเคชัน A-Live สามารถเลือกอัพโหลดข้อมูลส่วนบุคคลทางการแพทย์ขึ้นเก็บไว้ในระบบเพื่อง่ายต่อการส่งข้อมูลหากเกิดเหตุฉุกเฉินได้

**แอพพลิเคชัน A-Live รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS พร้อมให้ดาวน์โหลดทั้ง Play Store และ App Store ภายในเดือนตุลาคม 2560 นี้

***เกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน 5 ระดับ ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว ให้ใช้สัญลักษณ์ “สีแดง” สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน ได้แก่ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันมาก หรือ เจ็บปวดรุนแรงอันอาจจำเป็นต้องได้รับปฏิบัติการแพทย์อย่างรีบด่วน มิฉะนั้นจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตหรือพิการในระยะต่อมาได้ ให้ใช้ สัญลักษณ์ “สีเหลือง” สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน

ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอรับปฏิบัติการแพทย์ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือเดินทางไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเองได้ แต่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและหากปล่อยไว้เกินเวลาอันสมควรแล้วจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ให้ใช้สัญญลักษณ์ “สีเขียว” สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง

ผู้ป่วยทั่วไป ได้แก่ บุคคลที่เจ็บป่วยแต่ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอาจรอรับหรือเลือกสรรบริการสาธารณสุขในเวลาทำการปกติได้โดยไม่ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นหรือภาวะแทรกซ้อนตามมา ให้ใช้สัญลักษณ์ “สีขาว” สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วไป

ผู้รับบริการสาธารณสุขอื่น ได้แก่ บุคคลซึ่งมารับบริการสาธารณสุขหรือบริการอื่น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ ทรัพยากร ให้ใช้สัญลักษณ์ “สีดำ” สำหรับผู้รับบริการสาธารณสุขอื่น

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog