นักสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายมองถึงสิทธิในการเป็น 'มนุษย์' โดยก้าวข้ามการเหมารวมว่า ผู้อพยพหนีภัยความรุนแรงในรัฐยะไข่ จะเป็น 'โรฮิงญา' หรือ 'เบงกาลี' ด้านเครือข่ายโรฮิงญาเพื่อสันติ เรียกร้องทหารพม่า หยุดใช้ความรุนแรง และขอให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยด่วน
นักวิจัยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโรฮิงญา จากกลุ่ม Fortify Rights เปิดเผยภาพชาวโรฮิงญา ที่อพยพหนีความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมา เข้ามาพักอาศัยชั่วคราวตามแนวชายแดนของบังกลาเทศ โดยมีทหารบังกลาเทศให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น แต่ชาวโรฮิงญายังขาดวัสดุ-อุปกรณ์สร้างที่พัก น้ำดื่ม และอาหาร
ภาพเหล่านี้ถูกนำเสนอในงานเสวนาวิชาการ "เข้าใจโรฮิงญา : ปัญหาความมั่นคง หรือวิกฤตมนุษยธรรม?" ซึ่งผู้ร่วมเสวนาเห็นตรงกันว่า รากเหง้าสำคัญของปัญหาความรุนแรงครั้งนี้ เกิดจากการอคติทางเชื้อชาติ เพราะเมียนมาไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง และพยายามให้ชาติต่างๆ เรียกพวกเขาว่า 'เบงกาลี' แต่นักสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ควรมองพวกเขาเป็นมุนษย์
เหตุปะทะในรัฐยะไข่ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในไทยมากว่า 20 ปี บอกว่า ญาติพี่น้องของเขาเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย หลังทหารพม่าไปปราบปรามและขับไล่ชาวโรฮิงญา โดยอ้างว่ามีกองกำลังติดอาวุธโจมตีด่านตรวจของตำรวจหลายจุด ซึ่งเขามองว่า ทหารพม่าทำเกินกว่าเหตุ ส่งผลให้เด็กและผู้หญิง ถูกทำร้ายบาดเจ็บและเสียชีวิต พร้อมขอร้องให้นานาชาติ เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยด่วน
นายฮะยี อิสมาอิล ตัวแทนเครือข่ายโรฮิงญาเพื่อสันติ ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า สิ่งที่จะช่วยหยุดความรุนแรงในครั้งนี้ได้ คือการชำระประวัติศาสตร์ และคืนความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย แต่สำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ทหารพม่าควรหยุดการใช้กำลังปราบปรามชาวโรฮิงญา ก่อนที่ประชาคมอาเซียนจะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน เพราะการอพยพของชาวโรฮิงญา กระทบกับประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา
รายงานโดย : วีรนันต์ กันหา