ไม่พบผลการค้นหา
เพราะอะไร 'สี่แผ่นดิน' จึงเหมือนยากล่อมประสาทไทย ที่ทำให้คนยอมรับกับสังคมลำดับชั้นและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และทำลายมรดกคณะราษฎร

ค่ำวันนี้ “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล" จะกลับมาทำการแสดงเป็นครั้งที่ 3 หลังจากประสบความสำเร็จทั้งเงินและกล่อง ในปี 2554 และปี 2557 ด้วยจำนวนรอบการแสดงสูงถึง 150 รอบ ประเมินได้ว่ามีผู้ชมที่หลั่งไหลไปชมการแสดงรวมแล้วมากกว่า 225,000 คน และประเมินได้ว่าคงมีรายได้จากการขายบัตรรวมแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท

นอกเหนือไปจากรายได้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุดต่อผู้ผลิต เมื่อ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรละครเวทีสี่แผ่นดิน ในค่ำวันที่ 10 มกราคม 2555 ซึ่งหลังละครเวทีจบลง ถกลเกียรติได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานดอกไม้จากพระหัตถ์ นักข่าวถาม ถกลเกียรติว่า ค่ำคืนนั้นเขารู้สึกอย่างไร “มันเกิดคำพูดมั้ง มีคนถามว่าพระองค์ท่านตรัสว่าอะไร ผมอยากบอก ผมหูอื้อ ...แต่ผมได้ยินว่า ละครดีมาก แล้วก็เห็นจากพระพักตร์แล้วก็ ท่านบอกว่า ท่านโปรดมาก แค่นี้เราก็ปลาบปลื้มใจ”

ในปีเดียวกัน คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภายังได้ประกาศเกียรติคุณให้ “ละครเวทีสี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” เป็นผลงานละครสะท้อนประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าในการกระตุ้นเตือนให้คนไทยได้ตระหนักรู้ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อ ชาติ ศาสนาอีกด้วย 

“สินจัย เปล่งพาณิช” นักแสดงที่รับบทเป็นแม่พลอย ประกาศกลางเวทีคอนเสิร์ตแห่งหนึ่งเมื่อต้นปีนี้ว่า “สี่แผ่นดินแสดงครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2557 ตลอดสามปีที่ผ่านมา คนไทยและประเทศไทยผ่านเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างและมีผลกระทบต่อความรู้สึกของพวกเราหลายๆ คน... สี่แผ่นดินจะกลับมาทำการแสดงใหม่อีกครั้ง และจะถูกตีความใหม่เพื่อคนไทยในปี 2560” ขณะที่ “ถกลเกียรติ  วีรวรรณ” ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างละครเวทีเรื่องนี้ได้ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ไม่นานนัก ว่า “จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมว่าในฐานะคนทำละคร ผมว่าเรามีหน้าที่ ที่ต้องเอาสี่แผ่นดินกลับมา คนก็เรียกร้อง แล้วผมก็คิดว่า เรามีหน้าที่นำละครดีๆแบบนั้นกลับมา”   จนถึงวันนี้ สี่แผ่นดิน ถูกผลิตซ้ำรวมแล้ว ไม่น้อยกว่า 11 ครั้ง ได้แก่ ละครโทรทัศน์ทางช่อง 4 (2504), ละครเวที โดย ยุทธนา มุกดาสนิท (2516), ละครทางช่อง 5 (2517), ละครทางช่อง 5 (2523), ละครทางช่อง 3 (2534), ละครทางโมเดิร์นไนน์ทีวี (2546) (ฉายซ้ำทาง PPTV  ด้วยระบบความชัดสูง ตอนแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2559, ออกอากาศซ้ำอีกครั้งหนึ่งหลังการสวรรคตในเดือนตุลาคม 2559), ละครเวที “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” (2554-2555,2557,2560)

จนถึงวันนี้ มีการผลิตซ้ำสี่แผ่นดินในสามรูปแบบ โดยเป็นละครโทรทัศน์ 5 ครั้ง (เฉพาะฉบับปี 2546 ถูกฉายซ้ำอีกสองครั้ง), ละครเวทีแบบพูด 1 ครั้ง และละครเพลง 1 ครั้ง (ผลิตซ้ำอีกสองครั้ง) รวมแล้วทั้งหมด 11 ครั้ง   “คึกฤทธิ์  ปราโมช” เขียนสี่แผ่นดิน ออกมาครั้งแรกแบบเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ หน้าที่ 4 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2494 และตอนจบของสี่แผ่นดินก็ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อวันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2495  สี่แผ่นดินถูกรวมเล่ม และตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 

ตลอดระยะเวลากว่า 66 ปีที่นวนิยายเล่มนี้โลดแล่นในโลกทรรศน์ของคนไทย (2494-2560) ได้มีการผลิตซ้ำสี่แผ่นดินในรูปแบบต่างๆ อย่างน้อย 11 ครั้ง หรือคิดเฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 6 ปี คนไทยจะได้ชมสี่แผ่นดิน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จากที่ไล่เรียงมา จะเห็นได้ว่า แนวโน้มในการบริโภคความเป็นไทยยังคงได้รับแรงหนุนจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีรางวัลเป็นแรงจูงใจดึงดูดผู้ผลิตให้เข้ามาทำธุรกิจเพื่อโปรโมตความเป็นไทยอยู่โดยตลอด ชวนคิดว่าด้วยสภาพเช่นนี้ จะทำให้ผลงานที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทย อยู่ในสภาพแบบใด ? 

เมื่อนักแสดงรายหนึ่ง บอกว่า นี่เป็นฉบับการตีความในปี 2560 ก็แสดงว่า ในการแสดงทุกครั้ง หรือการสร้างบทละคร ล้วนมีการตีความใหม่ๆ อยู่เสมอให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา ถ้าเป็นเช่นนั้น แสดงว่า สี่แผ่นดินที่ผลิตก่อนหน้านี้ ก็มีบริบทที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งโดยบริบทหลังการสังหารที่ราชประสงค์และบริบทหลังการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด   คำพูดของสินจัยจึงน่าสนใจ เพราะชวนให้เข้าไปโรงละครเพื่อสังเกตดูว่า ในการแสดงรอบนี้ มีอะไรเปลี่ยนจากครั้งก่อนและมีอะไรที่ไม่ว่าผลิตครั้งไหนก็จะไม่เปลี่ยน และที่ดำเนินไปเช่นนี้เพราะเหตุใด   คำพูดของถกลเกียรติก็น่าสนใจ เพราะอธิบายถึง “หน้าที่” ของบุคลากรในแวดวงบันเทิงไทยได้ดี 

ถ้าหากว่าเฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 6 ปี ชาวไทยทั้งหลายจะได้ชมการผลิตซ้ำสารแบบสี่แผ่นดินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่า ที่ละครเรื่องหนึ่ง หรือสารชุดเดิมๆ สามารถตั้งตระหง่าน มีพลัง ชวนคล้อยตาม โดยไม่ถูกรบกวนได้ยาวนานขนาดนี้ และถี่เช่นนี่ นั่นก็แสดงว่า ยังคงมีผู้บริโภตติดตามชมอยู่เสมอ และสารเดิมๆ ที่ว่านั้นยังคงขายได้ สภาพบ้านเมืองในช่วงเวลาปัจจุบัน สนทนากับโจทย์ที่ตั้งไว้ได้ดีพอสมควรแล้วโดยไม่ต้องขยายความอะไรเพิ่ม สารแบบสี่แผ่นดินยังคงขายได้ในประเทศแห่งหนึ่ง ขายมาได้แล้ว 66 ปี และมีแนวโน้มจะขายได้ต่อไปเรื่อยๆ

สี่แผ่นดิน ฉบับละครเวที ให้ความสำคัญอย่างมาก กับการเล่าถึงความแตกต่างระหว่างการปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์และระบอบประชาธิปไตย ละครเวทีเรื่องนี้เดินตามเส้นเรื่องและอุดมการณ์ที่ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” ได้ลากเส้นไว้อย่างแยบยล ด้วยการชี้ให้เห็นความเลวร้ายของ ระบอบประชาธิปไตย ว่าเป็นสิ่งที่เร่งรีบไม่ได้ ต้องรอผู้คนในชาติมีความพร้อมมากกว่านี้ เหมือนเพลงประกอบละครเวทีเพลงหนึ่งที่ร้องโดย ตาอ๊อด เพื่อโต้ตอบกับ ตาอั้น “เปลี่ยนแปลงสยามชั่ววันอย่างนี้.... เห็นทีรีบร้อนเกินไป”  “คนไทยยังไม่เข้าใจ” “ใช้เวลา... อีกนานกว่าจะเข้าใจ” หรือเพลงแผ่นดินลุกเป็นไฟ ที่ร้องโดยตาอ้น ว่า “แผ่นดินเราที่ร่มเย็นมานาน มีใครมาเปลี่ยนผันให้เปลี่ยนไป แค่หวังจะเปลี่ยน แต่ไม่เรียนรู้มัน” นี่ก็คือการย้ำว่า 2475 เป็นของชิงสุกก่อนห่ามในงานทางวัฒนธรรม  

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมและดูจะสอดคล้องกับบริบทแบบไทยๆ ในยุคการเมืองร่วมสมัย ก็คือ “ตาอั้น” ตัวละครที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยสวมใส่ชุดสีแดงเลือดหมู และสารภาพผิดในตอนใกล้จบเรื่องด้วยเพลงแสงที่เธอศรัทธาว่า  “คนผิดก็คือฉันเอง ทำผิดก็พร้อม จะยินยอมรับทุกอย่าง ต้องจมในความมืดมน สับสนหลงทาง สิ่งที่ทำที่ตัวฉันสร้าง เหมือนเป็นบาปกรรม ที่คอยติดตาม ฉันต้องทรมาร ตราบจนตาย...บอกกับฉันจะทำเช่นไร จะต้องแลกเท่าไร ต้องแลกเท่าไร เพื่อแสงที่เธอศรัทธา ได้คืนมาอีกครั้ง”

สี่แผ่นดินฉบับนี้ ไม่เพียงเปรียบเทียบการปฏิวัติ 2475 ว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม แต่เห็นกิจกรรมนี้เป็นบาปกรรม เป็นความผิดติดตัว เป็นความทรมานตราบจนวันตาย เป็นความวุ่ยวาย ซึ่งจนถึงปัจจุบัน แม้ว่างานวิชาการหลายชิ้นได้ทำลายมายาคติหลายชุดลงหมดแล้ว (โปรดอ่านบทความของ ประจักษ์  ก้องกีรติ,การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน,เว็บไซต์ 101)  แต่ในฉบับละครไม่เคยเปลี่ยน ยังไม่เปลี่ยน และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนยากขึ้นทุกที

มีของหลายอย่างที่ไม่เปลี่ยนนับจาก ทศวรรษ 2490 จนถึงปี 2560 สิ่งนั้นคือสารทางการเมืองจากผลงานทางวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นไทยในมิติต่างๆในฐานะแกนกลางทางวัฒนธรรม และประณามศัตรูทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย สี่แผ่นดินในทศวรรษ 2490 ประณามคณะราษฎรโจมตีปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้ที่ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถือเป็นศัตรูทางการเมืองที่สำคัญที่สุดตลอดมา” ขณะที่สี่แผ่นดินในแต่ละฉบับ รวมถึงฉบับล่าสุดก็ต่างมีคู่สนทนาหรือศัตรูในทางการเมืองรวมอยู่ด้วยเสมอ

สี่แผ่นดินไม่เพียงย้ำลำดับชั้นทางสังคม บอกที่ต่ำที่สูง และช่วยถ่ายทอดภาพสังคมไทยในจินตนาการที่บางฝ่ายอยากให้เป็นเช่นนั้นอยู่ร่ำไป แต่สี่แผ่นดินยังสื่อสารกับสังคมไทยด้วยว่า อะไรเป็นของสำคัญ และสำคัญด้วยเหตุผลใด อะไรเป็นของไม่สำคัญ และไม่สำคัญด้วยเหตุผลใด สี่แผ่นดินบอกด้วยว่า อะไรควรเปลี่ยน และอะไรไม่ควรแตะ เหมือนเนื้อเพลงตอนจบเรื่องที่ว่า.... “ภาพวันวานที่เราผ่านมาจะสอนให้เรารู้ว่า ต้องก้าวเดินหน้าอย่างไร ...เรียนรู้บทเรียนที่ผ่านเลยไป พรุ่งนี้ย่อมจะสดใสดั่งมีแสงทองส่องมา”  

ในโลกของนวนิยาย ละคร และละครเวที ยิ่งงานทางวัฒนธรรมขับเน้นความอุดมสมบูรณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดูเหมือนมันได้ช่วยลดทอนความชอบธรรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog