ไม่พบผลการค้นหา
อย. เตือน ยาฉีดคอลลาเจนไม่เคยมีการรับขึ้นทะเบียนตำรับยา หากอยากฉีดแนะให้ฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาต และควรฉีดกับแพทย์เฉพาะทาง

อย. เตือน ยาฉีดคอลลาเจนไม่เคยมีการรับขึ้นทะเบียนตำรับยา หากอยากฉีดแนะให้ฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาต และควรฉีดกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อป้องกันการได้รับยาฉีดเกินขนาด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

 
 
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากข่าวหน้าหนังสือพิมพ์พบพริตตี้สาวกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราหลังฉีดคอลลาเจนเสริมสะโพกกับหมอเถื่อน นั้น ในเรื่องดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เคยออกข่าวเตือนหญิงสาวหลายครั้งให้ระวังอันตรายจากการฉีดสาร คอลลาเจน ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ และสารกลูตาไธโอน เนื่องจากเป็นการนำสารดังกล่าวมาใช้อย่างไม่เหมาะสม รวมทั้ง มีการตรวจสอบจับกุมผู้ลักลอบฉีดสารดังกล่าวโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
 
 
ส่วนกรณีหญิงสาวตามที่เป็นข่าวจะต้องตรวจสอบก่อนว่าได้รับการฉีดคอลลาเจนจริงหรือไม่ หรือมีการใช้สารแปลกปลอมอื่นใด ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าหญิงสาวรายนี้มีอาการแพ้อย่างรุนแรง ช็อค และหมดสติในที่สุด อย่างไรก็ตาม อย. ขอชี้แจงว่า ยาฉีดคอลลาเจนไม่เคยมีการรับขึ้นทะเบียนตำรับยาแต่อย่างใด เป็นสารที่ยังไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับฉีด ซึ่งส่วนใหญ่พบเป็นการลักลอบนำเข้ามาใช้ และนำมาโฆษณาขายและฉีดในราคาถูก ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
 
 
นพ.พิพัฒน์ เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า หากผู้บริโภครายใดมีความประสงค์จะฉีดสารใด ๆ เพื่อเสริมความงาม ควรเข้ารับบริการฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมาย หากเกิดอันตรายจากการแพ้ ทางสถานพยาบาลก็จะรับผิดชอบ และมีเครื่องมือทางการแพทย์ พร้อมทั้งยาที่จะช่วยเหลือคนไข้ได้ทันท่วงที
 
 
นอกจากนี้ ควรได้รับการฉีดจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างผิวหนัง กายวิภาค เซลล์วิทยา เนื่องจากจะไม่ฉีดให้กระทบเส้นเลือดหรือเส้นประสาท และสามารถรู้ได้ว่าผู้มารับบริการควรได้รับยาฉีดปริมาณเท่าไหร่ หากฉีดกับผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ หรือไม่ใช่แพทย์เฉพาะทาง อาจเสี่ยงต่อการฉีดผิดวิธีไม่ถูกทาง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ตามที่มีข่าวปรากฏให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
 
 
ดังนั้น ขอให้กรณีที่เกิดกับหญิงสาวรายนี้เป็นอุทธาหรณ์ให้ผู้คิดที่จะฉีดสารเสริมความงามเข้าสู่ร่างกายพิจารณาให้ถี่ถ้วน ระมัดระวัง ไม่หลงคารมโฆษณาผลิตภัณฑ์ ราคาถูก และเห็นแก่ความสะดวกในการไปฉีดตามบ้าน ตามรถ ตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สถานพยาบาล ที่สำคัญ ควรสอบถามและขอดูตัวยาที่ใช้ว่ามีการอนุญาตขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพมาตรฐาน หากฉีดยากับบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ หรือใช้ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และสถานที่ฉีดยาที่ไม่น่าเชื่อถือ ผลที่ได้อาจไม่คุ้ม เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น เกิดการอักเสบ อาการแพ้ต่างๆ นอกจากจะไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบแล้ว ยังอาจเสียเงินทองจำนวนมากในการรักษาร่างกายด้วย หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย หรือโฆษณา โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงผ่านทางสื่อต่างๆ สามารถร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร. 1556
 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog