ไม่พบผลการค้นหา
วันนี้ (14 กันยายน) เมื่อ 70 ปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นของการยืนเคารพธงชาติไทยวันละ 2 รอบคือ 8.00 น. และ 18.00 น. อย่างเป็นทางการ โดยมีเครื่องมือสำคัญในการประชาสัมพันธ์ให้คนไทย ทำตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ก่อนหน้านั้น

วันนี้ (14 กันยายน) เมื่อ 70 ปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นของการยืนเคารพธงชาติไทยวันละ 2 รอบคือ 8.00 น. และ 18.00 น. อย่างเป็นทางการ โดยมีเครื่องมือสำคัญในการประชาสัมพันธ์ให้คนไทย ทำตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ก่อนหน้านั้น ขณะที่ 5 ปีก่อน คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม ในขณะนั้นเคยมีแนวคิดเสนอกฎหมายเรื่องเดียวกันนี้อีกครั้ง 

 

 

2477 เป็นปีที่ประเทศไทยมีเพลงชาติเป็นครั้งแรก ซึ่งในขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า เพลงชาติสยาม และอีก 5 ปีต่อมา คือปี 2482 ก็เปลี่ยนเป็นเพลงชาติไทย 
 
ขณะที่ปี 2478  ราชการได้ประกาศกฎหมายให้ประชาชนยืนเคารพธงชาติในเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. แต่กฎหมายไม่ได้รับความนิยมและไม่มีการปฎิบัติอย่างแพร่หลาย
 
ในวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต เรื่องธงไตรรงค์กับการสร้างอุดมการณ์รัฐไทย พ.ศ. 2459 - 2520 ของชนิดา พรหมพยัคฆ์-เผือกสม สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กฎหมายนี้ถูกบังคับใช้อย่างแพร่หลาย
 
จุดเปลี่ยนสำคัญคือ รายการวิทยุประเภทสนทนา  ระหว่างนายมั่น และนายคง หนึ่งในเครื่องมือการโฆษณาแนวคิดรัฐนิยมของจอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
 
รายการนายมั่น นายคง เกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติและมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2482  รายการจัดทำขึ้นเพื่อชี้แจงและโฆษณานโยบายของรัฐบาล  รวมถึงการประดับและแสดงความเคารพต่อธงชาติไทยด้วย
 
หนึ่งในบทสนทนาระหว่างนายมั่นและนายคง ช่วงก่อนถึงวันชาติ ในปี 2485 คือ
 
"เวลา ๘.๐๐ น. เปนเวลาชักทงชาติขึ้นสู่เสาทั่วราชอานาจักร เวลานี้แหละเปนเวลาสำคันที่สุดประจำวันของเรา กรมโคสนาการได้ประกาสเชินชวนข้าราชการและประชาชนไนที่ทุกแห่งไปยืนนิ่งระวังตรง เพื่อสแดงความเคารพต่อทงชาติไทยเปนเวลา ๕ วินาที หรือจนกว่าการบันเลงเพลงชาติโดยทางวิทยุกะจายเสียงจะได้จบลง หรือจนกว่าสัญญานอื่นๆ ไนการชักทงชาติได้จบลง"
 
ซึ่งรายการนี้ ได้นัดหมายประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกัน ในวันที่ 14 กันยายน 2485 เป็นวันแรก  พร้อมกล่าวในรายการว่า
 
"เมื่อเช้านี้  เท่ากับเราได้เปิดฉากไหม่ของชีวิตชาติไทยอีกด้านหนึ่ง คือการเคารพทงชาติ ซึ่งเปนด้านสำคันมาก เพราะเปนการรวมจิตไจของคนทั้งชาติเข้าด้วยกัน รวมจิตไจของคนทั้งชาติเข้าสู่ความเปนเอกราชของชาติ และเกียรติอันสูงสุดของชาติที่รวมหยู่ที่ทงชาติไทย แม้การนี้จะได้นัดแนะกันล่วงหน้าไม่กี่วันก็ตาม แต่ได้ผลส่วนรวมเปนที่น่ายินดีมาก เท่าที่ฉันได้ยินได้ฟังจากบุคคลที่หยู่ไนสถานที่ต่างๆ กัน จะยังมีบกพร่องกันบ้างเล็กน้อยนั้น เข้าไจว่าคงเกิดจากยังไม่เข้าไจกันดี"
 
และในวันรุ่งขึ้น  จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวกับประชาชนผ่านทางวิทยุกระจายเสียง  สรุปใจความสำคัญได้ว่า การเคารพธงชาติทำให้จอมพลป. "มีความรู้สึกสบายไจ"  และพบความเป็นไทยมากขึ้น  พร้อมกับย้ำว่า  เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ ที่น้ำตานองหน้ากันได้ทั้งชาติเลยทีเดียว พร้อมประณามผู้ไม่เคารพธงชาติอย่างรุนแรงว่าเป็นผู้คิดทรยศต่อชาติ เท่ากับการด่าพ่อแม่ ครูอาจารย์ และพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว เนื่องจากธงชาติไทย มีบารมีของพระพุทธเจ้าและเป็นตัวแทนของศาสนา
 
การยืนเคารพธงชาติ ในเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. ในปัจจุบัน ยังเป็นไปตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ 2485 และพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ 2485   ในขณะที่ปี 2550 พลเอกปรีชา โรจนเสน ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม  เคยเสนอแนวคิดร่างพระราชบัญญัติชักธงชาติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา โดยมีเนื้อหากำหนดคือให้ประชาชนยืนตรงเคารพธงชาติในเวลา 08.00 น. และเวลา 18.00 น.  รวมถึงประชาชนที่ขับขี่รถบนท้องถนนด้วย ยกเว้นบนทางด่วนเท่านั้น เพื่อให้คนไทยทุกเพศทุกวัยมีจิตสำนึกในการรักชาติ โดยเห็นว่าการหยุดรถพร้อมกันเพียง 1 นาที ไม่น่าจะส่งผลกระทบ เพราะยังเร็วกว่า การติดไฟแดงตามสี่แยกต่างๆ แต่แนวคิดนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนแต่อย่างใด
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog