ไม่พบผลการค้นหา
สจล. อัพเกรดบั้งไฟ 4.0 ผนวกความรู้วิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาไทย ทำจรวดบั้งไฟช้างสาร 1 พร้อมติดตั้งจีพีเอส บอกพิกัด เล็งเปิดน่านฟ้าจรวดขนส่งพาณิชย์ไทย ดันยโสธรสู่เมืองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ

สจล. อัพเกรดบั้งไฟ 4.0 ผนวกความรู้วิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาไทย ทำจรวดบั้งไฟช้างสาร 1 พร้อมติดตั้งจีพีเอส บอกพิกัด เล็งเปิดน่านฟ้าจรวดขนส่งพาณิชย์ไทย ดันยโสธรสู่เมืองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ร่วมกับบริษัท Zignature Marketing จำกัด ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ (U.S. Space and Rocket Center – USSRC) สถาบันวิจัยการบินและอวกาศแห่งประเทศไทย (Thailand Space and Aeronautics Research – TSR) ชมรมอนุรักษ์มรดกยโสธร และกองทัพบก นำเอาองค์ความรู้หลักการอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) และเทคโนโลยีติดตามจรวด หรือ GPS เพื่อบอกพิกัด ความเร็ว ความสูง และประสิทธิภาพของการยิง รวมถึงติดตั้งเทคโนโลยีจับภาพเคลื่อนไหว ขณะจรวดเดินทางจากพื้นสู่อากาศ พัฒนาเป็นบั้งไฟต้นแบบ 4.0 ชื่อว่า “จรวดบั้งไฟช้างสาร๑” ความสูงประมาณ 2 เมตร หน้าตัดกว้างประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม อันเป็นการผนวกความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย

 

 

โดย ผศ.พลศาสตร์ เลิศประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาเทคโยโลยีป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้ดูแลโครงสร้างจรวดสมัยใหม่ตามหลักการอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการเข้ามาศึกษารูปแบบและความสามารถของบั้งไฟ อันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากประเพณีบุญบั้งไฟถือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน แต่ในระยะหลังเนื่องจากชาวบ้านได้พัฒนารูปแบบและเชื้อเพลิงของบั้งไฟได้ดีขึ้น ทำให้สามารถพุ่งขึ้นไปในระยะที่สูงมากโดยหากเป็นบั้งไฟแสน ซึ่งบรรจุเชื้อเพลิงหรือดินดำประมาณ 120 กิโลกรัม ความสูงที่พุ่งขึ้นฟ้าไปไกล 5-10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นขีดความสามารถที่สูงใกล้เคียงกับจรวดสมัยใหม่ในต่างประเทศมาก

ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้บั้งไฟของคนไทยมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพที่ดีขึ้น และเพื่อศึกษาข้อมูลที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน ตั้งแต่รูปแบบ น้ำหนัก ประสิทธิภาพการยิง ความเร็ว ความสูง และพิกัดที่ตกพื้น จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาและศึกษาต้นแบบบั้งไฟ 4.0 ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้การจุดบั้งไฟมีความปลอดภัยที่มากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดความชัดเจนของข้อมูลสำหรับใช้อ้างอิงตามหลักวิชาการได้อีกด้วย โดยในส่วนของการพัฒนาบั้งไฟตามหลักการอากาศพลศาสตร์ หรือ aerodynamics นั้น ได้มีการติดตั้งครีบหรือฟินเข้าไปในส่วนของปลายบั้งไฟด้วย ซึ่งตามหลักการแล้วนอกจากเพิ่มความสมดุลแล้ว ยังเพิ่มเสถียรภาพการทะยานสู่อากาศด้วย โดยจากการทดสอบพบว่าสามารถขึ้นได้สูงกว่าปกติถึง 2 เท่า

 

 

ด้าน นายกฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ USSRC ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและบริหารทุนวิจัยโครงการนี้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาโครงการ “บั้งไฟ 4.0 วิถีไทย วิถีโลก” ว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการพูดคุยกับนาย Charles Duke นักบินอวกาศ Apollo 16 ซึ่งกล่าวว่าไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เริ่มยิงจรวด จึงเริ่มรวบรวมทีมงานและหาทุนเพื่อนำเทคโนโลยีไทยแท้ผนวกเข้ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ในการสร้างเทคโนโลยีของไทยเองในการสำรวจและทำธุรกิจด้านอวกาศ ซึ่งเมื่อมาเห็นบั้งไฟของไทยเป็นครั้งแรกที่ยโสธร สิ่งที่เห็นคือธุรกิจแสนล้านเหรียญสหรัฐและทำให้นึกถึงการที่ธุรกิจอวกาศ ได้เปลี่ยนเมือง Huntsville ในรัฐ Alabama ที่ในอดีตทำเกษตรกรรมเหมือนยโสธร แต่ในปัจจุบันเป็นเมืองด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สองของสหรัฐ จึงเชื่อมั่น การเอาจริงในเรื่องนี้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15-20 ปี จะทำให้เห็นผลด้านการพัฒนาธุรกิจอวกาศในไทยอย่างแน่นอน

และ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริมขีดความสามารถของนักศึกษาไทย ในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศนั้น ขณะนี้ สจล. ได้จัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering : SESE) คาดว่าจะเปิดรับสมัครนักศึกษาและทำการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2561 ซึ่งในเบื้องต้นได้มีความร่วมมือกับองค์การอวกาศโลกและของญี่ปุ่น ตามความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างนักบินอวกาศไทยให้ได้ในอนาคต ควบคู่ไปกับการผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ พลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในโลกปัจจุบัน โดยได้ลงนามความร่วมมือกับกรมฝนหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ และร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรับรู้ระยะไกลและพยากรณ์อาการและภูมิภาค เพราะหากเรามีการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำจะช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน

 

 

นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์  02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog