ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท จัดงาน 'น้องTalk' - ทอล์กสำหรับ น้องๆ คนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทลายกรอบ จากการทอล์ก ของ 'น้องๆ' รุ่นใหม่ 8 คน ที่เคยทำลายกรอบมาแล้ว

18 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลา 15.00 น. ที่ TKPark CentralWorld กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท จัดงาน "น้องTalk -ทอล์กสำหรับ "น้องๆ" คนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทลายกรอบ จากการทอล์ก ของ "น้องๆ" รุ่นใหม่ ที่เคยทำลายกรอบมาแล้ว วิทยากรประกอบด้วย พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นักกิจกรรมด้านการศึกษา , ทักษภณ โฆษิตพิพัฒน์ (อิง) อดีตนักเรียนผู้เคลื่อนไหวต่อต้านระเบียบทรงผมในโรงเรียน , ชัยพฤกษ์ วิถีเจริญกุล (หนึ่ง) นักเรียนม. 5 โรงเรียนสวนกุหลาบผู้ทำสื่อเพื่อนักเรียน , หฤษฎ์ มหาทน (ปอน) นักเขียนนิยาย, ศิรัญญา ทองเชื้อ (จีน) นักเรียน ม.6  , วันเพ็ญ คุณนา (พลอย) อดีตนักข่าวพลเมือง เรื่องเหมืองแร่จังหวัดเลย , ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ (จอห์น) เยาวชนผู้ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาและศิริวิชญ์ สานิยม (ไผ่) แร็ปเปอร์สู้ชีวิต

          

“พริษฐ์ ชิวารักษ์” กล่าวบนเวทีโดยเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกว่ามีความเชื่อมโยงกัน แต่ผู้ใหญ่กลัวความเปลี่ยนแปลงจึงพยายามทำให้เราอยู่ในกรงบอกว่าเราเป็นเด็กไม่มีพลังต้องรอให้โตก่อนจึงออกจากกรง แต่ในความเป็นจริงกว่าจะออกจากกรงก็ช้าไปแล้วกลายเป็นพลังเก่าเพราะอยู่ในกรงมาตลอดชีวิต ความจริงเราสามารถแหกกรงออกมาได้ง่ายๆ เพียงแต่เราเริ่มทำ

ทักษภณ โฆษิตพิพัฒน์ (อิง) เล่าว่าเคยคัดค้านระเบียบเรื่องทรงผมในโรงเรียนจนมีความเสี่ยงถูกโดนไล่ออก แต่ไม่เคยเสียใจกับการเป็นนักกิจกรรม มองว่าการทำกิจกรรมไม่จำเป็นต้องเดินขบวนกลางถนนหรือเผารถ เราอาจจะเป็นนักกิจกรรมที่ทำกราฟฟิค เล่นดนตรี เขียนการ์ตูน อย่าคิดว่าเราคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เพราะสิ่งที่เราทำได้คือ บอกเพื่อนๆ ให้ตั้งคำถามและร่วมมือกันก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลง

"ชัยพฤกษ์ วิถีเจริญกุล" (หนึ่ง) กล่าวถึงประสบการณ์การทำสื่อในโรงเรียนว่า การทำสื่อไม่ใช่เพียงการสะท้อนเสียงนักเรียนให้อาจารย์ได้ยิน แต่สามารถเอาเสียงอาจารย์มาสะท้อนให้นักเรียนได้ยินด้วย เป็นความเป็นกลางของสื่อซึ่งจำเป็น

การสื่อคือการนำเสียงบอกออกไป อาจจะบอกไปถึงคนใหญ่คนโต แม้จะเป็น 1 เสียง ก็สามารถนำไปสู่การตัดสินได้ เช่น คะแนน 101 คะแนน ย่อมชนะเสียง 100 คะแนน ยกเว้นการโหวต พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แม้จะผ่านไปแล้วแต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลสะดุ้ง อย่างไรก็ตาม 1 เสียงสำคัญมาก อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศ เสียงของเรามีค่ามากๆ ทำเสียงให้มีค่าอย่าให้ใครมาว่าประชาชนอย่างเราไม่มีตัวตน 

หฤษฎ์ มหาทน (ปอน) กล่าวถึงการทำงานหารายได้ในโลกปัจจุบันที่ทุกคนมีพื้นที่ในโซเชียลมีเดียโดยยกตัวอย่างหลายแฟนเพจ พร้อมกับเล่าว่าบางแฟนเพจมีรายได้ถึงเดือนละ 2 หมื่นบาทเพราะโฆษณาบางตัวไม่ลงทุนกับทีวีแต่ไปลงทุนในโซเชียลมีเดีย บางแฟนเพจเป็นการ์ตูนที่คนเข้ามาดูเป็นจำนวนมาก การเป็นศิลปินมีช่องทางเป็นไปได้มากกว่าสมัยก่อนที่กว่าจะประสบความสำเร็จก็แทบตายไปก่อน 

หฤษฎ์ มองว่า สมัยนี้เราสามารถทำตามความฝันได้โดยไม่ต้องแลกกับการเลิกงานประจำหรือการฝากความหวังของพ่อแม่ เช่นเมื่อก่อน พ่อแม่รู้ว่าลูกชอบวาดรูปแต่เห็นลูกเรียนเก่ง ก็ขอให้เรียนหมอก่อน ทำให้ลูกต้องเลือกระหว่างความฝันกับความหวังพ่อแม่ แต่เดี๋ยวนี้ได้พบกับหมอหลายคนที่วาดรูปเก่งด้วย คือทำ 2 อย่างพร้อมกันโดยไม่ต้องทิ้งเซฟตี้โซน เป็นการหาจุดร่วมระหว่างความต้องการของพ่อแม่และตัวตนของเรา 

ศิรัญญา ทองเชื้อ (จีน) พูดถึงความสัมพันในครอบครัวระหว่างพ่อแม่และลูก ที่ควรจะเปิดใจกันเพราะพ่อแม่เป็นที่ปรึกษาที่ดี ส่วนลูกก็ต้องการความเชื่อใจจากพ่อแม่ 

วันเพ็ญ คุณนา (พลอย) เล่าประสบการณ์ตอนเป็นนักข่าวพลเมือง เรื่องเหมืองแร่จังหวัดเลยว่า เกือบถูกฟ้องเพราะนำเสนอความจริง นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แต่ยังยืนยันเดินหน้าภารกิจต่อไป อยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนพูดความจริง พูดในสิ่งที่ถูกต้อง

ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ (จอห์น) กล่าวถึงโรงเรียนว่าเหมือนแหล่งผลิตบันไซที่ผลิตออกมาเหมือนกันเพื่อรอส่งตลาด ถ้าต้นไหนก้าวร้าว มีปากมีเสียง ตั้งคำถาม ก็จะถูกตัดออกจากระบบตลาด ในโรงเรียนไม่มีความเสมอภาคระหว่างครูกับนักเรียน อยากให้ทุกคนเรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียน 

ศิริวิชญ์ สานิยม (ไผ่) เล่าประสบการณ์ในครอบครัวว่าเป็นลูกในครอบครัวที่ไม่ใช่ครอบครัวแรกของพ่อและไม่ใช่ครอบครัวสุดท้าย แม้จะเคยผ่านเหตุการณ์ที่แม่ต้องมาแก้ปัญหาทะเบียนสมรสซ้อน แต่ก็มองว่าไม่ใช่ความผิดของผู้หญิงแต่ละคนที่มาเป็นภรรยาของพ่อ สุดท้ายได้บอกกับพ่อไปว่าอย่ามายุ่งกับแม่และตนเอง เพราะเราเปลี่ยนใครไม่ได้ ที่ทำได้คือไม่ยอมรับการเลี้ยงดู เคยโดดเรียนไปหาเงินช่วยแม่ ส่งผลให้กระทบต่อการเรียนแต่เมื่อเราเลือกแล้วเราก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมาได้ ต้องคิดว่าเป็นความท้าทายที่คุ้มที่จะเสี่ยง

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog