บทเฉพาะกาล คือ บทกฎหมายที่บังคับใช้เฉพาะกรณี ในบางช่วงเวลา โดยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนผ่านจากของเดิม และของใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ 17 มาตรา ครอบคลุมสาระสำคัญทั้งสถาบันทางการเมือง การปฏิรูป การเปลี่ยนผ่านอำนาจ ตลอดจนการนิรโทษกรรม
เราประมวลโมเดลสำคัญที่ปรากฎในบทเฉพาะกาลได้ดังนี้ 1. ที่มาสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากร่างผ่าน ที่มาสมาชิกวุฒิสภา 200 คน จากการเลือกไขว้ของกลุ่มอาชีพในมาตรา 107 จะยังไม่ถูกบังคับใช้
แต่มาตรา 269 กำหนดให้ คสช. ตั้งคณะกรรมการสรรหา 12 คน สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ 400 คน ให้คสช.คัดเลือกเหลือ 194 คนเป็นสมาชิกวุฒิสภากลุ่มแรก กลุ่มที่สองคัดเลือกจากที่มาวุฒิสภาปกติ 200 คน ให้เหลือ 50 คน /และกลุ่มที่สามคือ สมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง 6 คนมาจากผู้นำเหล่าทัพ ตำรวจ และปลัดกระทรวงกลาโหม รวม 194 50 และ200 จะเท่ากับ 250 คนหรือที่นั่ง
มีอำนาจในฐานะสมาชิกวุฒิสภาปกติ ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดปฏิรูปประเทศ /รับฟังรายงานปฏิรูปประเทศของคณะรัฐมนตรี และสามารถเลือกบุคคลผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หากประชาชนเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบคำถามประเด็นเพิ่มเติม
ประเด็นต่อมา มาตรา 272 เปิดทางหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครึ่งหนึ่งสามารถเข้าชื่อ ให้รัฐสภาสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ
โดยหากรัฐสภาจัดประชุมร่วมกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจะต้องได้เสียงรวมกันไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ทั้งหมด หรือประมาณ 500 คน จากจำนวนรวมกัน 750 คน เพื่อให้อนุญาตให้ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรี ที่ไม่จำเป็นต้องส.ส. และไม่จำเป็นต้องอยู่ในรายชื่อพรรค
ประเด็นที่ 3 ให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมภายใน 1 ปีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มาตรฐานดังกล่าวจะเป็นตัวควบคุมคุณสมบัติการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตลอดจนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น ในมาตรา 160 รัฐมนตรีต้องไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม เป็นต้น
ประเด็นที่ 4 มาตรา 275 ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ ว่าควรทำ หรือมีวิธีการ ตลอดจนสาระสำคัญอะไรบ้างภายใน 4 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ และจัดแผนยุทธศาสตร์ชาติภายใน 1 ปี
แผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ผูกพันการบริหารของฝ่ายบริหารตามมาตรา 162 ที่ต้องมีนโยบายสอดคล้องกับแผนดังกล่าว ซึ่งเมื่อเทียบเวลาจะพบว่า ผู้จัดทำกฎหมาย และแผนยุทธศาสตร์ชาติ จะอยู่ในห้วงเวลาของรัฐบาลคสช.
ซึ่งอยู่ในประเด็นที่ 5 ที่เราจะพูดถึงคือ มาตรา 265 ที่ให้คสช. และอำนาจตามมาตรา 44 จะยังบังคับใช้ต่อไป แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้รับความเห็นชอบ โดยอำนาจดังกล่าวจะอยู่จนกว่ามีรัฐบาลชุดใหม่ หรือประมาณ 1 ปี
ประเด็นสุดท้ายคือ ไฮไลท์สำคัญ คือ มาตรา 279 ที่รับรองให้บรรดาคำสั่ง หรือประกาศคสช.ที่เกิดขึ้นในห้วง 2 ปีนี้ มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยหากจะยกเลิก หรือแก้ไข ให้กระทำเป็นกฎหมาย ผ่านรัฐสภา
เว้นแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทางบริหาร ให้ใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรีได้ /นอกจากนี้การกระทำต่างๆที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ผ่านมา ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิด รวมถึงอำนาจในมาตรา 44