ไม่พบผลการค้นหา
กว่า 40 ปีมาแล้ว ที่ประเทศไทย เคยผ่านการเตือนและก่อการร้ายมากว่า 10 ครั้งแล้ว

กว่า 40 ปีมาแล้ว ที่ประเทศไทย เคยผ่านการเตือนและก่อการร้ายมากว่า 10 ครั้งแล้ว

 

เว็บไซต์คลังปัญญาไทย อธิบายคำว่าก่อการร้าย ตามลักษณะความผิดในกฎหมายไทย  เช่น การใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใด   ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพระบบขนส่งสาธารณะ โทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสาธารณะ  รรวมทั้งทรัพย์สินของรัฐ บุคคล หรือต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง



พฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าจะก่อการร้ายจริง  เช่นการสะสมกำลังพล อาวุธ  ระดมทรัพย์สิน เข้ารับการฝึก  ยุยงประชาชน เพื่อเตรียมก่อการร้าย 



จากคำจำกัดความนี้  ประเทศไทย มีเหตุการณ์การก่อการร้ายที่สำคัญ ๆดังนี้

1. การยึดสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ระหว่างวันที่ 28 ถึง 30 ธันวาคม 2515  โดยสมาชิกขบวนการก่อการร้ายปาเลสไตน์ อัลฟาตาห์  และกลุ่ม BLACK SEPTEMBER โดยจับกุมตัวประกันไว้ 6 คน  พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่ออิสราเอล 3 ข้อ คือ ปล่อยเชลยศึกชาวอาหรับ 35 คน และนายเคโชโอกาโมโต สมาชิกองทัพแดงญี่ปุ่น (ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่อิสราเอลจับกุม)  เหตุการณ์นี้ จบลงโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง


4 ปีต่อมา  วันที่ 7 - 13 เมษายน 2519 เกิดเหตุปล้นยึดเครื่องบินจากฟิลิปปินส์มาลงไทย โดยมีปลายทางที่ประเทศลิเบีย  โดยผู้ก่อการร้าย 3 คนในขบวนการแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร ใช้ผู้โดยสาร 70 คน เป็นตัวประกัน และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ จ่ายเงินค่าไถ่3 แสนเหรียญสหรัฐฯ  และปล่อยนักโทษการเมือง และผู้ต้องหายึดเครื่องบิน  เหตุการณ์นี้ ไม่มีความรุนแรงเช่นกัน



กรุงเทพ เป็นจุดแวะของเครื่องบินที่ผู้ก่อการร้ายปล้นอีกครั้ง  โดยวันที่ 28 - 31 มีนาคม 2524 ผู้ก่อการร้าย 5 คนในขบวนการคอมมานโดญิฮาด ยึดเครื่องบินโดยสารภายในประเทศอินโดนิเซีย ให้บินไปลงที่ประเทศศรีลังกา  และแวะลงที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ มีข้อเรียกร้องให้อินโดนีเซียปล่อยนักโทษการเมือง 84 คน ประณามรองประธานาธิบดี และห้ามมีทหารอิสราเอลในกองทัพอินโดนีเซีย
 


แต่เหตุการณ์นี้  การเจรจาไม่เป็นผล หน่วยจู่โจมของอินโดนีเซีย บุกยึดเครื่อง  ผลปรากฎว่าผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต 4 คน ถูกจับ 1 คน  ส่วนเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินเสียชีวิตอย่างละ 1 คน ขณะที่ผู้โดยสารทั้งหมดปลอดภัย  


อีก 1 ปีต่อมา เกิดเหตุระเบิดอาคารบริษัท เอ อี นานา  มีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และมีผู้บาดเจ็บ 17 คน เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อมีผู้นำระเบิดที่ซ่อนไว้ในกระเป๋าเอกสาร ไปทิ้งในสำนักงานซึ่งเคยเป็นที่ทำการสถานกงสุลกิตติมาศักดิ์อิรัก ประจำกรุงเทพฯ 



เมษายน 2531  ผู้ก่อการร้ายที่คาดว่าเป็นสมาชิกขบวนการฮิชบอลลาห์ ยึดเครื่องบินโดยสารของสายการบินคูเวต   จากกรุงเทพฯ ไปลงในเมืองมาชาต  ในอิหร่าน พร้อมด้วยผู้โดยสารและลูกเรือ 112 คน รวมทั้งเชื้อพระวงศ์ของคูเวต 3 คน  เรียกร้องให้รัฐบาลคูเวตปล่อยตัวนักโทษชาวมุสลิมชีอะห์ 17 คน  


ปี 2532 เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายมากถึง 3 ครั้ง  โดยวันที่ 4 มกราคม เกิดเหตุลอบสังหารเลขานุการตรี สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบีย  ย่านสาธรใต้   โดยกลุ่ม THE SOLDIERS OF JUSTICE  กับกลุ่ม ISLAMIC JIHAD อ้างความรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้


6 ตุลาคม  นักศึกษาพม่า 2 คน จี้เครื่องบินของสายการบินพม่า  มาลงที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า 1 เดือนถัดมา นักศึกษาพม่า จี้เครื่องบินอีกครั้ง ด้วยเหตุผลเดียวกัน ซึ่งท้ายที่สุด ทั้งคู่ยอมมอบตัว



เหตุก่อการร้ายทิ้งช่วงจากประเทศไทยไปนาน 5 ปี  วันที่ 11 มีนาคม 2537  ก็เกิดเหตุคนร้ายขับรถบรรทุกระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่ที่บรรจุในแท้งค์น้ำ จากที่จอดรถห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง มุ่งหน้าไปสี่แยกเพลินจิต-ชิดลม แต่เกิดอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์ก่อน  ต่อมา ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวอิหร่านได้ 1 คน ส่งฟ้องศาล แต่ในที่สุดศาลฎีกากลับคำพิพากษาให้ยกฟ้อง 



นักศึกษาพม่า ก่อเหตุในประเทศไทยอีกครั้ง โดยยึดสถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย พร้อมตัวประกันกว่า 30 คน โดยยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาลพม่า คือปล่อยตัวนักโทษการเมืองทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข  เปิดการเจรจากับคณะกรรมมาธิการสภาผู้แทนประชาชน และให้ความร่วมมือกับสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนจัดตั้งรัฐบาลผสม  ซึ่งท้ายที่สุด รัฐบาลไทยจัดเฮลิคอปเตอร์ ไปส่งที่บ้านแม่เพี้ยเล็ก พื้นที่อิทธิพลของกะเหรี่ยงเคเอ็นยู พร้อมกับตัวประกันคนสำคัญ คือหม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


เหตุการณ์สุดท้ายคือ  กองกำลังทหารกะเหรี่ยง กลุ่ม "ก็อดอาร์มี่"  ยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เมื่อวันที่ 24 - 25 มการาคม 2543  พร้อมจับกุมตัวประกัน ซึ่งมีทั้งคนไข้ แพทย์และพยาบาล และยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลทหารพม่า  ยุติการปราบปรามชนกลุ่มน้อย  ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในเหตุการณ์นี้  รัฐบาลไทยจัดการขั้นเด็ดขาด โดยการสนธิกำลังหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากล ที่มีทั้งทหารและตำรวจ เข้าช่วยเหลือตัวประกัน ผลปรากฏว่า ตัวประกันปลอดภัย  เจ้าหน้าที่หน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากล ได้รับบาดเจ็บ 8 นาย ผู้ก่อการร้ายทั้งหมด 10 คนเสียชีวิต

 

Produced by Voice TV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog