เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ยังคงเดินหน้าคัดค้านพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ โดยได้เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ พร้อมร้อยตรี แซมดิน เลิศบุศย์ และเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ต่อพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือผิดจากกรอบจารีตประเพณีที่เป็นมา และยังคงนำพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2547 มาปรับใช้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะลงนามและนำขึ้นทูลเกล้าฯ
นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าในพระราชกฤษฎาขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่มีรายชื่อพันตำรวจโท ทักษิณ และได้พิจารณาตราพระราชกฤษฎีกา โดยยึดหลักกฎหมายและผลประโยชน์ส่วนรวม
เช่นเดียวกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่าพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่รัฐบาลเสนอเป็นไปตามขั้นตอนและไม่มีเนื้อหาเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ส่วนร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่เคยดำเนินการเรื่องพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นความลับ เพราะได้วางแผนอย่างเปิดเผยมาตั้งแต่ปี 2552 โดยชูนโยบายช่วย พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับประเทศ ตั้งแต่ครั้งหาเสียง จนทำให้ชนะการเลือกตั้ง
ร้อยตำรวจเอกเฉลิม เห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน ที่ต้องการให้อภัยและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งคดียึดสนามบินสุวรรณภูมิ และคดีของกลุ่ม นปช. รวมถึงคดีพันตำรวจโททักษิณ ที่ล้วนเกิดจากผลพวงของการรัฐประหาร แต่ไม่ควรรวมถึงคดี 91 ศพจากการสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 และคดียึดทรัพย์ 4 หมื่น 6 พันล้านบาท เพราะเป็นคนละฐานความผิดกัน
Produced by VoiceTV