ไม่พบผลการค้นหา
'เรียนเอกภาษาไทย' ได้อะไรมากกว่าที่คิด

วิชา ภาษาไทย ไม่ได้เป็นเพียงสาระการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของนักเรียนชั้นประถม-มัธยม แต่ยังเป็นวิชาเอกในระดับมหาวิทยาลัยของคณะที่เรียนด้านภาษา ไม่ว่าจะเป็น อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือ มนุษยศาสตร์ ตามแต่ว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเรียกคณะเหล่านี้ว่าอย่างไร แต่สิ่งที่ผู้เรียนวิชาเอกภาษาไทยพูดตรงกันอย่างแน่นอนคือ การเรียนภาษาไทยไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ไวยากรณ์ หรือทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน 

ในโอกาสวันสุนทรภู่ประจำปีนี้ ผมมีโอกาสสนทนากับ นางสาวหัตถกาญจน์ อารีศิลป์ อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ดีกรีบัณฑิตและมหาบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากภาควิชาดังกล่าวด้วย  เธอบอกว่า นอกจากไวยากรณ์และหลักภาษาระดับสูง ผู้เรียนยังต้องเรียนรู้วรรณกรรม วรรณคดี และนิทานพื้นบ้าน  ซึ่งล้วนทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และสภาพสังคมด้วย

การเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อการใช้งานอย่างถูกต้อง จึงมีความสำคัญ เพราะภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ที่ช่วยสร้างความเข้าใจในสังคม และยังช่วยลดความขัดแย้งได้ จากการตีความภาษาที่ถูกต้อง 

อีกคำถามที่น่าสนใจ คือ เรียนภาษาไทยแล้วจบมาทำอาชีพอะไร? อาจารย์หัตถกาญจน์ แบ่งอาชีพเป็น 2 ประเภท คือ สายวิชาการ คือ เป็นครู-อาจารย์ทั้งในระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย ส่วนสายวิชาชีพ ได้แก่ ทำงานในกองบรรณาธิการ ล่าม เลขานุการ นักแปล หรือทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ  แต่มองว่า ผู้เรียนควรเรียนรู้ภาษาที่ 3 เพื่อเป็นจุดขายในการเลือกประกอบอาชีพด้วย

อาจารย์เอกภาษาไทยรุ่นใหม่ เสนอแนะด้วยว่า การเรียนการสอนภาษาไทย ไม่ควรทำให้ผู้เรียนรู้สึกเข้าไม่ถึงวรรณคดี แต่ควรสอนอย่างไรให้ผู้เรียนได้ประโยชน์จากวรรณคดี เช่น การตีความตัวละคร เรื่องราว สถานการณ์ที่สามารถทำให้ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งยิ่งทำให้การเรียนภาษาไทยมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
     

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog