ไม่พบผลการค้นหา
ชาวบ้านกัมพูชายื่นศาลอาญาระหว่างประเทศ ฟ้อง ‘ชนชั้นปกครอง’ ประกอบอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ แย่งยึดที่ทำกิน 25 ล้านไร่ เผยมีคนเดือดร้อนกว่า 7 แสนราย

ชาวบ้านกัมพูชายื่นศาลอาญาระหว่างประเทศ ฟ้อง 'ชนชั้นปกครอง' ประกอบอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ แย่งยึดที่ทำกิน 25 ล้านไร่ เผยมีคนเดือดร้อนกว่า 7 แสนราย

 

ริชาร์ด โรเจอร์ ทนายความตัวแทนของชาวกัมพูชานับแสนผู้เดือดร้อนเพราะ "การย่ำยีบีฑาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบต่อพลเรือนสืบเนื่องจากนโยบายรัฐ" เปิดเผยที่กรุงเฮกในวันอังคาร ว่า ชนชั้นปกครองได้ยึดและจัดสรรที่ดินอันมีค่าจากชาวกัมพูชาผู้ยากจน กินพื้นที่หลายล้านไร่ เพื่อการใช้ประโยชน์และเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ

 

บรรดาองค์กรช่วยเหลือประชาชน ประเมินว่า นับแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ชาวบ้าน 770,000 คน หรือคิดเป็น 6% ของประชากรกัมพูชา ถูกขับไล่ออกจากที่อยู่ที่ทำกิน เฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 มีผู้เดือดร้อนเพราะเรื่องนี้ราว 20,000 คน

 

พื้นที่อย่างน้อย 25 ล้านไร่ถูกยึดไปจากชาวบ้าน คิดเป็น 22% ของที่ดินในกัมพูชา ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ปลูกยางพาราหรืออ้อย

 

โรเจอร์เผยว่า ชาวบ้านที่แข็งขืนได้ถูกยิง ถูกข่มขืน หรือดำเนินคดีโดยมิชอบ "มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชนชั้นปกครองกลุ่มเล็กๆร่ำรวยขึ้น และครองอำนาจต่อไป" และว่า ชาวบ้านที่ถูกยึดที่ดินจะถูกส่งไปยังนิคม หรือถูกปล่อยทิ้งขว้าง

 

"มีการเผาหมดทั้งหมู่บ้าน ตำรวจ ทหาร หรือบริษัทรักษาความปลอดภัยของเอกชน ได้ขโมยหรือทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน โดยการสนับสนุนของกลไกรัฐ" คำร้องระบุ

 

@  ระบบเอกสารสิทธิ์ที่ดินในกัมพูชา มีความคลุมเครือ ชาวบ้านจำนวนมากจึงถูกขับไล่ออกจากที่บ้านหรือที่ทำกิน เพื่อเปิดทางแก่โครงการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ ตามนโยบายรัฐบาล

 

คำร้องที่ยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี บรรยายว่า "ชนชั้นปกครอง" ของกัมพูชาปราบปรามคนที่ต่อต้านการยึดที่ดินอย่างหนัก ทั้งแกนนำกลุ่มประชาสังคม พระสงฆ์ นักข่าว ทนายความ นักสิ่งแวดล้อม และชาวบ้าน นับแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา เกิดเหตุสังหารทางการเมือง 300 กรณี

 

โรเจอร์ยื่นคำร้องนี้ต่ออัยการของไอซีซี ฟาตู เบนซูดา เธอจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า คำร้องนี้มีมูลพอที่จะเปิดการไต่สวนอย่างเป็นทางการหรือไม่ และจะเอาโทษผิดกับใครบ้าง

 

กัมพูชาให้สัตยาบันรับรองธรรมนูญกรุงโรมตั้งแต่ปี 2545 ไอซีซีจึงมีเขตอำนาจที่จะไต่สวนคดีร้ายแรงที่เกิดขึ้นในกัมพูชานับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา  

 

ระบบเอกสารสิทธิ์ในกัมพูชา มีความคลุมเครือ กรรมสิทธิ์เอกชนได้ถูกยกเลิกไปในยุคระบอบเขมรแดงช่วงปีพ.ศ.2518-2522 และโฉนดที่ดินจำนวนมากได้สูญหาย

 

ทนายความผู้นี้บอกว่า ระบบยุติธรรมของกัมพูชาไม่ไต่สวนข้อกล่าวหาดังกล่าว ไอซีซีจึงมีอำนาจที่จะเข้าแทรกแซงได้

 

อย่างไรก็ดี นักสังเกตการณ์บอกว่า การยื่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ อาจทำให้รัฐบาลกัมพูชาเปลี่ยนนโยบาย ศาลภายในอาจรับฟ้องคดี เพื่อกีดกันไม่ให้ไอซีซีไต่สวนกรณีเหล่านี้.

 

Source: AFP

Photo: AP

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog