ไม่พบผลการค้นหา
Biz Feed - คนไทยยังนิยมไปเที่ยวญี่ปุ่น-เกาหลีใต้มากที่สุด - Short Clip
Dec 7, 2017 03:58

ผลสำรวจ UnionPay Smart Traveler Survey ของบริษัท UnionPay International พบว่าคนไทยมีความต้องการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำรวจชี้ว่าในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งในเดือนธันวาคมนี้ ภูมิภาคที่คนไทยวางแผนอยากจะไปเที่ยวมากที่สุดคือเอเชียแปซิฟิก คิดเป็น 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ซึ่งจุดหมายยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนไทยก็คือกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รองลงมาก็คือนครโอซากา และอันดับสาม คือกรุงโซล ในเกาหลีใต้

สาเหตุที่คนไทยนิยมไปเที่ยวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มากที่สุด ในช่วงนี้ก็เพราะว่ามีอากาศหนาวเย็นกำลังดี และก็มีราคาไม่แพง โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ยกเลิกวีซาสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2013 ทำให้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้นและถูกขึ้นมาก ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีคนไทยเดินทางไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นทั้งปีรวมกันมากถึง 1 ล้าน 2 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีอยู่ 9 แสนคน ส่วนเกาหลีใต้ มีคนไทยไปเที่ยวมากถึง 7 แสนคน เมื่อปีที่แล้ว 

ส่วนภูมิภาคที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับสองคือยุโรป คิดเป็น 19% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งในยุโรปประเทศที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมากที่สุดคือฝรั่งเศส รองลงมาก็คืออิตาลี 

ขณะที่รูปแบบการชำระเงินเพื่อการท่องเที่ยวของชาวไทย พบว่าคนไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งคือ 52% ยังใช้เงินสดเป็นหลัก ส่วนผู้ที่นิยมชำระเงินด้วยบัตรเครดิตมีอยู่ 35% และอีก 6% เลือกใช้บัตรเดบิต ซึ่งผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าการชำระเงินด้วยเงินสดถูกใช้อย่างแพร่หลายสำหรับการซื้อสินค้าเล็กน้อยทั่วไป เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ค่ารถไฟ ค่าแท็กซี และค่าที่พัก ส่วนบัตรเครดิตเป็นที่นิยมสำหรับใช้จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินและการช็อปปิงสินค้า

คุณเหวินฮุ่ย หยาง ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทยูเนียนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า คนไทยเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความเข้าใจและรอบคอบในการใช้จ่าย จากการสำรวจพบว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้วิธีการใช้บัตรเครดิตเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์สูงที่สุด ทำให้คนไทยเลือกที่จะใช้บัตรเครดิทเพื่อซื่อตั๋วเครื่องบินและการช็อปปิงในห้างสรรพสินค้าที่มักมีสิทธิประโยชน์ให้มากกว่าการจ่ายเงินสด ในขณะที่คนไทยเลือกที่จะใช้เงินสดสำหรับการซื้อสินค้าตามร้านค้าเล็กๆ เช่น ร้านอาหาร หรือร้านขายของฝาก

จริงๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ช่องทางการจ่ายเงินเวลาใช้บริการหรือซื้อสินค้าก็จะคล้ายๆกัน และก็มีข้อดีขอเสียแตกต่างกันไป เช่นการพกเงินสด ก็สะดวกสบาย แต่ก็มีปัญหาตรงที่ต้องคำนวนให้ดีว่าจะต้องใช้มากน้อยแค่ไหน เพราะแลกเงินเยอะเกินไป ใช้ไม่หมด แล้วเราต้องแลกคืนก็จะมีส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เราขาดทุน หรือจะใช้บัตรเครดิทจ่ายก็สะดวกดี แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินจะแพงกว่าปกตินิดหนึ่ง เพราะจะมีการบวกค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินอีกร้อยละ 2.5 ซึ่งจะจ่ายเงินแบบไหนก็ขึ้นอยู่ว่าผู้ใช้มีลักษณะการใช้เงินแบบไหน และเหมาะสมที่จะใช้แบบไหนมากกว่ากัน


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog