ไม่พบผลการค้นหา
'ปริญญา' วิพากษ์ รธน.2560 ทำประเทศถอยหลัง ระบบเลือกตั้งไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน เอื้อ 'ประยุทธ์' ตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำประเทศถอยหลังไปสู่ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ด้านอดีตหัวหน้า ปชป. ชี้แค่เล่นวาทกรรม รธน. ฉบับปราบโกง รับแก้ รธน.ยาก ต้องใช้สังคมกดดันรัฐบาล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงาน รัฐธรรมนูญ 60 : 60 ปี สมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์ พร้อมจัดเสวนา “การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 : เดินหน้าหรือถอยหลัง”

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มธ. กล่าวว่า เห็นว่าที่ผ่านมาจะมุ่งวิจารณ์นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และไม่สบายใจตั้งแต่ได้ยินชื่อคนๆนี้มาเป็นประธาน เพราะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่สร้างปัญหาและลงเอยด้วยการนองเลือด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา ชี้ว่า ปัญหารัฐธรรมนูญมีหลายด้าน ประการแรกคือ ระบบเลือกตั้งมีปัญหา ซึ่งการใช้บัตรใบเดียว บังคับให้เลือกทั้งคนและพรรค ทั้งที่อาจต้องการเลือก ส.ส.เขตกับพรรคต่างกันได้ การประกาศผลเลือกตั้งล่าช้าเพราะคะแนนผูกติดกันใน ส.ส.2 ประเภท ที่สำคัญ จำนวน ส.ส.ไม่นิ่ง หากมีการเลือกตั้งซ่อมก็ต้องคำนวณใหม่อีก และรัฐธรรมนูญยังทำให้ยื้อเวลาการตั้งรัฐบาล และจะไม่มีเสถียรภาพด้วย โดยเห็นว่า ควรใช้รูปแบบการเลือกตั้งเหมือนประเทศเยอรมณีที่ใช้บัตร 2 ใบ จึงสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

ต่อมาคือ ส.ว.จากการสรรหาโดย คสช.และให้ ส.ว.มีอำนาจมาก แต่ให้ถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ทั้งที่ คสช.เลือกมา และยังทำให้ระบบการเมืองไทยเป็นแบบไฮบริด คือ มีสภา ส.ส.จากการเลือกตั้ง ผสมกับ สภา ส.ส.ที่มาจากการสรรหา นอกจากนี้มีปัญหาที่มานายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้กำหนดให้ต้องเป็น ส.ส. สำหรับสถานะพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ทุกฝ่ายต้องจับตาศาลรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญยังมีปัญหาเรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระด้วย  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำลายหลักการปกครองโดยกฎหมาย เพราะให้ คสช.มีอำนาจไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงจงใจที่จะจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ช้า เพื่อจะได้มีอำนาจต่อไปเรื่อยๆและหากนับเฉพาะประเด็นนี้ก็ทำให้บ้านเมืองถอยหลังไปไม่น้อยกว่า 41 ปี คือในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เรืองอำนาจ 

มาร์ค เย้ย 'รธน.' ปราบโกงแค่วาทกรรม เอื้อฝ่ายอำนาจ 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การเมืองจะความก้าวหน้าหรือถอยหลังไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ก็ส่งผลและนำมาสู่ปัญหาหลายอย่าง โดยพิจารณาจากประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางการเมืองของไทยแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 จะทำให้ประเทศถอยหลัง อย่างน้อยไปถึง ปี 2521 หรือยิ่งกว่านั้น เพราะไม่มีเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่ชัดเจนอย่างฉบับปี 2540 หรือ 2550 แม้แต่การพูดถึงการปฏิรูปอย่างการศึกษาและตำรวจก็ไม่มีรูปธรรม 

ส่วนการบอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นเป็นฉบับปราบโกงนั้น ล้วนไม่เป็นความจริง ซึ่งสังคมต่างรับรู้ มิหนำซ้ำยังมีการตอกย้ำสิ่งที่สังคมต้องการแก้ไขคือการทุจริตและธรรมาภิบาล ทั้งยังเสริมสร้างระบบราชการให้เข้มแข็งเป็นอุปสรรคต่อการบริหารและพัฒนาประเทศ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางกลไกทำให้มีการซื้อเสียงและออกแบบกติกา รวมถึงการใช้อำนาจและทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์บางฝ่าย อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การจะให้การเมืองไทยเดินหน้าหลีกเลี่ยงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ก็ผู้มีอำนาจวางเงื่อนไขไว้ให้แก้ไขยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ผู้มีอำนาจเดินตามเส้นทางนี้แม้ว่าเหมือนการไต่เส้นลวด ที่สุ่มเสี่ยงนำสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมขึ้นได้ แต่หากใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็มีโอกาสที่จะพาประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และสังคมต้องช่วยกันกดดันให้ผู้มีอำนาจคลายเงื่อนไขเพื่อนำสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย

ข้อดี รธน.60 ปลุกจิตสำนึกนักการเมือง ปิดวงจรซื้อเสียง

ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวยอมรับว่า คนร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มีอคติหรือมองนักการเมืองในแง่ร้ายและถูกจารณ์หลายด้านโดยเฉพาะระบบเลือกตั้งและอำนาจของ ส.ว.สรรหา แต่การร่างรัฐธรรมนูญเข้มงวดเพื่อป้องกันคนไม่ดีที่จะมาอยู่ในวงการเมืองและป้องกันให้คนเข้ามาแล้วทำอะไรไม่ดีไม่ได้ แต่ไม่ได้ขึ้นกับกฎหมายอย่างเดียวเพราะอยู่ที่สำนึกของตัวบุคคลด้วย 

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญปี 2560 สร้างมิติใหม่กำหนดหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาคนตั้งแต่ก่อนวัยเรียน รวมถึงการปฏิรูปที่กำหนดทิศทางประเทศไว้ล่วงหน้าด้วย หากรัฐบาลใดไม่ทำตาม ป.ป.ช.ก็จะลงโทษได้ 

ศาสตราจารย์ อุดม ระบุด้วยว่า หลายฝ่ายโจมตีระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่า การเลือกตั้งไม่ได้หมายถึงประชาธิปไตย เพราะหากซื้อเสียงเข้ามาเพื่อมีอำนาจทางการเมืองก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง และเห็นว่าประชาชนต้องมีจิตสำนึกในการเลือกผู้แทนด้วย

รธน. 3 ส่วน กลไกเหนือกฎหมาย

ขณะที่รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ได้แยก รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็น 3 ส่วนคือ 1)​ กรรมการช่วยกันทำ ไม่ใช่นายมีชัย คนเดียว ซึ่งถือว่ามีความเป็นรัฐธรรมนูญมากที่สุด 2)​ ส่วนที่ "คุณขอมา" ที่บางเรื่องพูดได้และบางเรื่องพูดไม่ได้ แบ่งเป็นอีก 2 ส่วนย่อย คือ ประชาชนขอมาจากการรับฟังความคิดเห็น กับที่ คสช.ขอมาแบบเป็นลายลักษณ์อักษร และอื่นๆ 3)​ คือส่วนที่ให้ ส.ว.มาลงมติเลือกนายกรัฐธรรมนูญได้ ซึ่ง กรธ.ไม่ได้ยกร่างและไม่ได้มาจากการสอบถามความเห็นประชาชาชน

รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ กล่าวด้วยว่า การยกร่างรัฐธรรมปี 2560 ถูกมองว่าไม่ชอบธรรม ส่วนการทำประชามติ โดยห้ามวิพากษ์วิจารณ์หรือโน้มน้าวให้คนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องพิจารณาว่าชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งรองศาสตราจารย์ เจษฎ์ มองว่า การมีกฎหมายประชามติอย่างที่เป็นอยู่ ทำให้การผ่านประชามติไม่มีความชอบธรรม รองศาสตราจารย์ เจษฎ์ ยังระบุถึงอารัมภบทของรัฐธรรมนูญ ทำให้คนยอมรับยาก เพราะมีคำว่า "นโยบายประชารัฐ" ในนั้นด้วย  

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าแม้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญมีความก้าวหน้าแต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้บ้านเมืองก้าวหน้าเพราะอาจมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ อย่าง ฉบับปี 2540 มีเนื้อหาก้าวหน้าเเต่พอใช้แล้วทำให้บ้านเมืองก้าวหน้าน้อยกว่าฉบับปี 2550 และหากเทียบกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหาสำคัญคือ การออกแบบผู้เล่นในระบบการเมือง ซึ่งมีปัญหามาก เพราะทั้งกรรมการ, โค้ชและผู้จัดการทีม, ก็ลงไปเล่นเองด้วย และถ้าอยากให้บ้านเมืองเดินหน้าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ในท้ายที่สุด โดยหวังว่าจะแก้ไขในเวทีรัฐสภา ที่ไม่นำสู่การฉีกทิ้งหรือการรัฐประหาร