ไม่พบผลการค้นหา
"เทพไท" ยืนยันพรรคประชาธิปัตย์ หนุนตั้ง กมธ.วิสามัญ ตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามแนวทางพรรค "สุจริต-โปร่งใส-ตรวจสอบได้"

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นชอบการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้งบประมาณจากการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการหยิบยกประเด็นนี้ในที่ประชุม ส.ส. พรรค โดยถือจุดยืนของพรรคคือ การทำงานสุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เป็นคนร่างญัตติตั้ง กมธ. เนื่องจากการกู้เงินก้อนนี้เป็นจำนวนที่เยอะมาก ยกตัวอย่าง โครงการมิยาซาวา เมื่อปี 2542 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี พรรค ปชป. เองก็เป็นคนเสนอตั้ง กมธ.ตรวจสอบ แม้จำนวนเงินจะไม่มากเท่าครั้งนี้ก็ตาม

นายเทพไท ยังกล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลบริสุทธิ์ใจ ใจกว้าง และเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ก็ควรจะให้ตั้ง กมธ. ทาง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เองเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี แต่คนรอบข้างนายกรัฐมนตรีไม่สามารถตรวจสอบได้ และหากอ้างว่ามีคณะกรรมาธิการสามัญที่สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว ตนเห็นว่าติดเรื่องบุคลากรที่มาจาก ส.ส. หลากหลายพรรค ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเพียงพอ แต่ถ้าตั้ง กมธ. วิสามัญ จะสามารถดึงนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้  

ก่อนหน้านี้ มีการนำมติที่ประชุม ส.ส. พรรคไปหารือกับวิปรัฐบาลแล้ว ตนเชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะตั้ง กมธ. ได้ และคิดว่าจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลไม่เห็นด้วยคงจะต้องมาคุยกัน และคงจะตอบคำถามยาก เพราะการตั้ง กมธ. ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย พร้อมทั้งยืนยันว่า หากพรรคประชาธิปัตย์เสนอญัตติตั้ง กมธ. วิสามัญตรวจสอบการใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาท ทาง ส.ส. ของพรรคก็จะลงมติไปในทิศทางเดียวกัน

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณ ซึ่งที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการตรวจสอบอย่างโปร่งใสรวมถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งเท่าที่หารือกับประธานวิปรัฐบาลโดยเบื้องต้นแล้ว ฝ่ายรัฐบาลไม่ขัดข้องและไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

สาทิตย์ หนุนตั้ง กมธ. ป้องท้องถิ่นเกี้ยเซียะผู้รับเหมา

ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ จำนวน 1.9 ล้านล้าน ได้แก่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ 

โดยมีใจความว่า ภาวะโรคระบาดครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลใช้ในระยะต้นเป็นมาตรการที่จำเป็น และรัฐบาลทำมาถูกต้องแล้ว เช่น การปิดเมือง แต่ผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกิดผลกระทบ รัฐบาลต้องกู้เงินตาม พ.ร.ก. มาแก้ปัญหา ดังนั้นการจะทำให้ พ.ร.ก. เหล่านี้มีประสิทธิภาพได้ ต้องทำร่วมไปกับการผ่อนคลาย คำถามคือทุกวันนี้มาตรการปิดเมืองและข้อจำกัดต่างๆเกินไปหรือไม่ และ พ.ร.ก. นี้ต้องให้เกิดผลทันทีโดยมีตัวชี้วัดคือตัวโครงการ ซึ่งตนได้อ่านเนื้อหาในกรอบที่เขียนไว้ท้าย พ.ร.ก. มีการเขียนกรอบการทำงานไว้ แต่ไม่ระบุว่าใช้เงินโครงการละเท่าไร แสดงถึงการไม่เตรียมการหรือไม่ โดยให้อำนาจแต่ละจังหวัดเสนอโครงการ

ตนจึงเห็นว่าต้องอย่าให้เป็นโครงการประเภทจังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา หรือเอาโครงการเก่ามาปัดฝุ่น ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายและเคยเป็นมาโดยตลอด และงบประมาณ 4 แสนล้านบาทนี้ หากเฉลี่ยแล้วจะได้รับจังหวัดละ 5,000 กว่าล้านบาท ถือเป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการกลั่นกรองโดยให้มีผู้ตรวจสอบการทุจริตเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการกลั่นกรองแต่ละจังหวัดมาด้วย อีกทั้งต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดโครงการแต่ละจังหวัดผ่านเว็บไซต์ ตั้งแต่โครงการที่เสนอ, โครงการที่ได้รับการอนุมัติ, สถานะของโครงการนั้นๆ, ผลการประมูล, รายชื่อผู้รับเหมา, และจำนวนเงินที่ใช้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเงินที่จะนำมาใช้นี้จะโปร่งใส 

ทั้งนี้ตนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มีสมาชิกมาจากทุกพรรคการเมือง เพื่อติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายของเงินจำนวนเหล่านี้ โดยอัพเดทจากเว็บไซต์ก่อนแล้วนำมารายงานต่อคณะ กมธ. เพื่อรับรองว่าโครงการที่ผ่านการอนุมัติในแต่ละจังหวัด จะเกิดผลในการสร้างรายได้ใหม่เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างแท้จริง เนื่องจากใน พ.ร.ก. กำหนดเพียงว่ารัฐบาลจะรายงานผลเมื่อครบ 60 วันหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณ แต่ตนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ครบปี และเชื่อว่ารัฐบาลทุกคนก็ควรจะเห็นตรงกันว่าที่ผ่านมา โครงการรีบเขียน รีบใช้เงิน แต่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ ดังนั้นเพื่อการการพิจารณาที่รอบคอบต้องมีการติดตามตรวจสอบที่รอบคอบจากฝ่ายนิติบัญญัติด้วยด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :