ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าพรรคกล้า เสนอไอเดียฟื้นฟูการบินไทย ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่-ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ ต้องร่วมรับภาระความเสียหาย จี้ใจ 'นายกฯ' บอกครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่แก้ปัญหามา 5 ปี จะมีอะไรแตกต่างไปได้

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความคิดเห็นถึงการฟื้นฟูการบินไทย โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า การบินไทย ต้องปรับสู่ New Normal ตนเห็นด้วยกับกับการฟื้นฟูการบินไทยให้เป็น ‘บริษัทชั้นนำ’ ของประเทศ แต่หากจำเป็นต้องอุ้มด้วยเงินภาษี ข้อแลกเปลี่ยนคือ

1. การบินไทย ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

2. ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้เดิม ต้องแบ่งรับภาระความเสียหาย เงินภาษีที่จะใช้ ต้องมีสิทธิเหนือเงินส่วนอื่นทั้งหมดในบริษัท 

นายกรณ์ บอกต่อว่า ก่อนโควิดการบินไทยก็มีสถานะทางการเงินที่ร่อแร่อยู่แล้ว ขาดทุนปีละกว่าหมื่นล้าน ทั้งๆ ที่ตั๋วโดยสารแพงกว่าคนอื่น แถมอัตราผู้โดยสารก็อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรฐานบริการที่ดี

แต่เมื่อโลกมีวิกฤต เราต้องวิเคราะห์กันต่อว่า หลังโควิดจะเป็นอย่างไร?

จำนวนผู้โดยสารจะลดลงเท่าไร และบริษัทจะต้องปรับลดค่าใช้จ่ายอย่างไรถึงจะอยู่รอด ลำพังเพียงการบริการที่ดีไม่สามารถช่วยบริษัทได้ แต่ต้องมีระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพด้วย

ความเป็นจริงทางการเงิน สถานะวันนี้ของการบินไทยจะเรียกว่า ‘เจ๊ง’ ก็ไม่ผิด เพราะทุนติดลบ เงินสดก็ติดลบ (ซึ่งแม้รวมวงเงินกู้ทั้งหมดที่มีก็ยังไม่พอใช้เกินสิ้นเดือนหน้า) ดังนั้นตามปกติ หากใครจะใส่เงินเข้าบริษัทเพิ่มเติม เขาต้องตั้งคำถามกับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้เดิมว่า ‘แล้วพวกคุณจะช่วยรับภาระอย่างไร?’

คงไม่มีใครให้เงินเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของหุ้น เงินกู้ หรือการค้ำประกันเงินกู้ (โดยเฉพาะถ้าเงินนั้นเป็นเงินภาษีประชาชน)

ทาง IATA ประมาณการว่ารายได้ธุรกิจการบินทั่วโลกจะลดลงร้อยละ 55 ในปี 2020 และจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้น และล่าสุดสายการบิน British Airways ประกาศลดพนักงาน 12,000 คนหรือร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมด ส่วน SAS มีแผนลดพนักงาน 5,000 คน

ท่านนายกฯ บอกว่าการอุ้มครั้งนี้ ‘เป็นครั้งสุดท้าย’ ผมมองน่าจะเป็นเพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่จะค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านอย่างกว้างขวาง

ซึ่งหากท่านนายกฯ จะช่วยจริง ท่านควรต้องยืนยันชัดๆ ให้ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ ทุกคนมีส่วนช่วยลดภาระของบริษัทลงด้วย

ผมขอยกตัวอย่างกรณีที่ Norway รัฐบาลเขาได้กำหนดสัดส่วนทุนต่อหนี้ขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 8 เป็นเงื่อนไขก่อนที่รัฐจะยอมค้ำประกันหนี้ใหม่ให้ เจ้าหนี้เดิมจึงต้องยอมแปลงหนี้เป็นทุน และนอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นเดิมเพิ่มทุนก่อนด้วย

ทั้งหมดนี้เพื่อให้มีการแบ่งรับภาระ ไม่ใช่ได้เงินภาษีไปโดยไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ ซึ่งนี่คือหลักการที่ไม่ถูกต้องนัก

ท่านนายกฯ คงทราบดีว่าปัจจุบันการบินไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่เดือนละกว่า 1 หมื่นล้าน (โดยไม่มีรายได้) ดังนั้นหากไม่สามารถกลับมาสร้างรายได้โดยเร็ว หากไม่มีการปรับโครงสร้างทุน และหนี้สินของบริษัท วงเงิน 50,000 ล้านนี้ไม่นานก็หมด ซึ่งก็จะกลายเป็นการสูญเสียเพิ่มเติมของรัฐอย่างสูญเปล่า

ท่านนายกฯ ได้รับรู้ปัญหาการบินไทยมา 5 ปีแล้ว ท่านได้ตั้งคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ดขึ้นมาเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทย และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น คณะนี้ยังแทบไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถเลยด้วยซ้ำไป

'ครั้งสุดท้าย' นี้จะมีอะไรแตกต่างอย่างไรครับ? คนไทยมีสิทธิได้รับคำชี้แจงว่าท่านนายกฯ มีแผนอะไรที่จะทำให้การบินไทยดีขึ้นได้จริง เราทุกคนเฝ้ารอเพื่อเอาใจช่วย "การบินไทย" ในฐานะลูกค้าที่ซื่อสัตย์

แต่ในฐานะผู้เสียภาษี หากไม่มีความชัดเจนว่าการบินไทยจะฟื้นฟูอย่างไร รัฐบาลก็ไม่ควรเข้าไปแบกภาระเพิ่มเติม"  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :