ไม่พบผลการค้นหา
6 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเดินเกมสั่งสมวิกฤตศรัทธา หวังโค่นรัฐบาลสีเทาในระยะยาว แต่ความมุ่งหมายของผู้มีอำนาจในเวลานี้ อยู่ที่การเซาะกร่อน บ่อนทำลายฝ่ายค้านให้อ่อนแอมากที่สุด-ลดจำนวนที่นั่ง-ทำลายความเป็นปึกแผ่น

สวนดุสิตโพล สอบถามความคิดเห็นประชาชนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดในปลายเดือนนี้โดยมี นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีอีก 5 คน ขึ้นเขียงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ประชาชนกว่าร้อยละ 45 บอกว่า จะติดตามการอภิปรายครั้งนี้ เพราะ “เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก ประเด็นที่ฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายน่าสนใจ อยากฟังการชี้แจงของทั้ง 6 รัฐมนตรี ต้องการรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงให้มากขึ้น ชอบติดตามข่าวการเมือง ฯลฯ”

เมื่อถามว่าปัญหาใดบ้างที่อยากให้มีการอภิปรายในสภา ประชาชนกว่าร้อยละ 44 บอกว่า "ผลงานของนายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล การไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้” 

รองลงมาคือ “การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน” ซึ่งเป็นปัญหาตลอดกาลของรัฐบาลประยุทธ์นับตั้งแต่ปี 2557   

ตามด้วย “การปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต-ความไม่โปร่งใส-เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง-การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย-การใช้งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง อนุมัติโครงการต่างๆ”

สิ่งเหล่านี้คือข้อกังขาในใจของประชาชนต่อรัฐบาลประยุทธ์ และมีทีท่าว่า หลังกรณีกราดยิงที่โคราช ประชาชนย่อมมีข้อกังขาในใจเพิ่มเติม โดยเฉพาะต่อความไม่ชอบมาพากลในกองทัพบก 

ทว่าเมื่อสอบถามประชาชนว่า หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง ประชาชนคิดว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร 

ประชาชนกว่าร้อยละ 55 บอกว่า “เหมือนเดิม” คือ “คณะทำงานชุดเดิม รัฐบาลยังคงมีอำนาจและมีเสียงข้างมาก เหมือนกับการอภิปรายทุกครั้งที่ผ่านมา ฯลฯ”

สอดรับกับบทสัมภาษณ์ของ 'สุทิน คลังแสง' คีย์แมนการอภิปรายไม่ไว้วางใจหนนี้ ที่ให้สัมภาษณ์ขนาดยาวกับไทยโพสต์

“เรื่องการอภิปรายที่จะถึงขั้นเคยล้มรัฐบาลในสภาพบว่าไม่ค่อยมี ... แต่จะไปเกิดเรื่องภายหลังเพราะจำนนต่อหลักฐาน จำนนต่อความเสื่อม และวิกฤติศรัทธาที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังการอภิปรายจบลง” 

“เมื่อเสร็จการอภิปรายแล้ว รัฐบาลจะพบกับวิกฤติศรัทธาและไปไม่ได้ในที่สุด โดยเชื่อว่าหลังอภิปรายจบไม่เกินสามเดือน รัฐบาลจะเหนื่อยจากวิกฤตศรัทธา” 

'สุทิน'​ ไม่เพียงเผยเป้าหมายในใจ ซึ่งอยู่ที่การสั่งสมวิกฤตศรัทธา แต่ยังเล่าถึงการเตรียมอภิปรายหนนี้ ซึ่งจะ “หนักแน่นด้วยข้อมูล-มีใบเสร็จทุจริตชัดเจน” ซึ่งเป็นทั้ง “ทุจริตเอง-เอื้อและเปิดทางให้คนอื่นทุจริต” และที่สำคัญหลักฐานในการอภิปรายหนนี้ มาจากทั้งคนนอก-คนใน-คนใกล้ตัว ครม.

“เป็นการเปิดแผลและทำให้นายกฯ ตาสว่าง ท่านอาจจะเคยฟังลูกน้องบริวาร หรือข้าราชการคอยให้แต่ข้อมูลที่เป็นไปในทางบวก แต่ถ้าฟังข้อมูลฝ่ายค้านบางกรณี นายกฯ อาจจะต้องอึ้งกับบางเคส บางกรณีที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลตัวเอง แล้วนายกฯ ก็จะตาสว่าง”

“3 ป. คือ คือตัวอำนาจที่แท้จริงในรัฐบาล ทั้งในฐานะคนสั่งการและคนที่กุมทิศทางจริงๆ ของรัฐบาลอยู่ที่ 3 คนนี้ คนอื่นๆ เราถือว่าเป็นตัวประกอบ”

“สำหรับกรณีพลเอกอนุพงษ์...มีเรื่องทุจริตอยู่หลายเรื่อง ทั้งทำเองและลูกน้องบริวารทำ โดยฝ่ายค้านมีหลักฐานชัดเจนที่จะแสดงต่อสภาฯ โดยเขาก็ต้องตอบ และสิ่งนี้จะทำให้ประชาชนผิดหวัง คือผิดหวังที่ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะเป็นคนแบบนั้น และตัว รมว.มหาดไทยเอง เราได้รับความร่วมมือจากคณะรัฐมนตรี ตัวรัฐมนตรีในรัฐบาลและจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลดีมาก ส่งข้อมูลให้ฝ่ายค้านมาเยอะมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าคนในซีกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือ ส.ส.รัฐบาลด้วยกันเอง ส่งข้อมูลให้ฝ่ายค้านเยอะมาก ที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา” 

แม้ 6 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย จะเดินเกมสั่งสมวิกฤติศรัทธา เพื่อหวังโค่นรัฐบาลสีเทาในระยะยาว ทว่าความมุ่งหมายของผู้มีอำนาจในเวลานี้ อยู่ที่การเซาะกร่อน บ่อนทำลายฝ่ายค้านให้อ่อนแอมากที่สุด-ลดจำนวนที่นั่ง-ทำลายความเป็นปึกแผ่น

เพราะในเวลา เสียงฝ่ายค้าน หายไปแล้วกว่า 12 เสียง 

ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ ย้ายสู่พรรคภูมิใจไทย

กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ ย้ายสู่พรรคพลังท้องถิ่นไท

จารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ ย้ายสู่พรรคพรรคพลังท้องถิ่นไท

พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ ย้ายสู่พรรคพลังประชารัฐ 

พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย โดนฟัน “กระทำความผิดวินัยพรรคอย่างร้ายแรง ซ้ำซาก ควรลงโทษสถานหนัก...ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคและไม่ส่งสมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไขผ่อนปรนใดๆ ทั้งสิ้น” 

พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย โดนภาคทัณฑ์ “ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคเป็นเวลาหนึ่ง และพิจารณาไม่ส่งเป็นผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ให้พรรคมั่นใจหรือมีการกระทำที่น่าเชื่อถือว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัยของพรรค” 

ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย โดนภาคทัณฑ์ “ไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมพรรคในระยะเวลาหนึ่ง และพิจารณาไม่ส่งลงเลือกตั้งในครั้งต่อไป จนกว่าจะมีข้อเสนอหรือพิจารณาเป็นอย่างอื่น”

ขณะที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ ประกาศถอนตัวจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยก 5 ส.ส. ซบผู้มีอำนาจ 'สุภดิช อากาศฤกษ์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรค-ภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรค-นิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ-มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ-มารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ”

เว้นเหลือเพียง 'มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์' เตรียมขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจยาว 4 ชม. วิเคราะห์-วิพากษ์ ความเป็นไปเศรษฐกิจยุคประยุทธ์-สมคิด 

และหากไม่มีปาฏิหาริย์การเมือง สู่พรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ ก็จะทำให้กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่โดนตัดสิทธิทางการเมือง 

และส่งผลให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ที่นั่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ต้องเดินออกจากสภาไปด้วยอีกจำนวน 10 คน และต้องหมุดหมายไว้ด้วยว่า ในจำนวนนี้คือมืออภิปรายคนสำคัญในสภายุคนี้ 

ทั้ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พ้นสภาพ ส.ส.ก่อนหน้านี้)-ปิยบุตร แสงกนกกุล-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ-ชำนาญ จันทร์เรือง-พล.ท.พงศกร รอดชมภู-พรรณิการ์ วานิช-ไกลก้อง ไวทยการ-เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์-สุรชัย ศรีสารคาม-เจนวิทย์ ไกรสินธุ์-จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ” 

ฉายา 'รัฐบาลสีเทา' ถูกตั้งให้โดย 'เฉลิม อยู่บำรุง' กุนซือการอภิปรายของฝ่ายค้าน สะท้อนถึง คุณสมบัตินายก-คุณสมบัติรัฐมนตรี-การเข้าสู่อำนาจโดยการบิดกติกา-บริหารประเทศเอื้อทุนใหญ่ 

สถานการณ์วันนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า 'รัฐบาลสีเทา' นั้น ล้มยาก จึงจำเป็นต้องอาศัยเกมยาวสั่งสมวิกฤตศรัทธาเข้าช่วย

ขณะที่ผู้กำกับภาพยนตร์-ผู้มีอำนาจ ทั้งลงทุน-ลงแรง เดินเกมเซาะกร่อน บ่อนทำลาย 7พรรคฝ่ายประชาธิปไตย 

จนเหลือ 5 พรรค และจนอาจเหลือจำนวนที่นั่ง ส.ส.ฝ่ายค้านรวมกันต่ำกว่า 220 ที่นั่ง ณ วันอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

หากไปถึงจุดนั้น การเมืองไทยจะเหลือเพียงแต่ 'สภาทหารเกณฑ์-สภาดงงูเห่า' ทำงานขนานใกล้ชิดไปกับ 'รัฐบาลสีเทา'!!

วยาส
24Article
0Video
63Blog