ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนร้อยละ 99 หนุน สนช. ชงร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เปิดทางใช้พืชกระท่อม - กัญชา ศึกษา วิจัยประโยชน์ทางการแพทย์ หลัง สนช. เปิดเว็บไซต์ให้ประชาชนมาแสดงความเห็นใน 15 วันก่อนเสนอที่ประชุม สนช. ด้านเสียงประชาชนชี้ควรปลดล็อกไว้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

เว็บไซต์สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดให้ประชาชนร่วมตอบแบบสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งมีสมาชิก สนช. รวม 44 คนเป็นผู้เสนอ โดยสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และควบคุมของแพทย์ได้ โดยจะปิดการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ (15 ต.ค.) โดยมีผู้เข้ามาตอบแบบสอบถาม จำนวน 15,371 คน แบ่งเป็นเพศชาย ร้อยละ 48 เพศหญิง ร้อยละ 52 ทั้งนี้ส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามมีการศึกษาจบปริญญาตรีถึงร้อยละ 74 

ขณะที่อาชีพส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถาม คือ ค้าขายและทำธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 53 รองลงมาเป็นรับราชการ ร้อยละ 22  

โดยผลสำรวจเมื่อเวลา 16.30 น. มีผู้เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ร้อยละ 99 หรือ 14,225 คน มีเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ 1 หรือ 113 คน

สำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า เห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์วงการแพทย์และประโยชน์กับผู้ป่วยภายใต้การดูแลของแพทย์ เห็นด้วยให้กัญชาเป็นยาบำบัดรักษาผู้ป่วย 

"สนับสนุนครับ ช่วยผู้ป่วย"

"ควรชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์จากการใช้พืชชนิดนี้กับการควบคุมและบทลงโทษให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดช่องว่างของกฎหมายที่จะทำให้คนนำไปใช้ในทางที่ผิด"

"เห็นด้วยเป็นที่สุดเพราะต่างประเทศใช้กันแล้ว"

"เห็นด้วย เอาไปใช้กับคนที่เจ็บป่วย อย่างน้อยก็บรรเทาอาการ หรืออย่างมากก็หายขาดจากโรค ขึ้นชื่อว่า พืช ยังไงก็อันตรายน้อยกว่าสารเคมี"

"เป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายค่ะ ที่ต่างประเทศใช้กัญชาเพื่อการรักษาแล้วมีคนหาย อยากให้เป็นทางเลือกของคนป่วยที่สิ้นหวังค่ะ ถึงตัวดิฉันเองอาจจะไม่ได้อยู่ใช้มันแต่ก็อยากให้คนป่วยที่รอคอยคนอื่นๆได้ลองใช้" เสียงจากประชาชนที่โพสต์ให้ความเห็น

"ควรทำให้ถูกกฏหมาย เพราะในต่างประเทศยืนยันและว่าสามารถช่วยในการรักษามะเร็งได้จริง และยังสามารถนำมาทำอาหารได้ แต่ก็ต้องมีกฏมีระเบียบว่าควรใช้ในสถานที่ใด หากใช้ผิดที่หรือจับได้อาจมีค่าปรับ เป็นต้น"

"ควรออก พ.ร.บ.ให้กัญชาเป็นยารักษาโรคโดยเร็วที่สุดก่อนที่ผู้ป่วยมะเร็งจะตายกันอีกหลายคน"

โดยก่อนหน้านี้ นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. พร้อมสมาชิก รวม 44 คนได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 คือ กัญชาและพืชกระท่อมสามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และนำไปใช้รักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ หลังมีผลพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วพบว่า สารที่สกัดได้จากกัญชาสามารถนำไปรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งแล้วมีอาการที่ดีขึ้น 

สำหรับเหตุผลที่แก้ไข ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากบังคับใช้มาเป็นเวลานาน อีกทั้งในปัจจุบันปรากฎผลวิจัยสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีการผ่อนปรนโดยการแก้ไขกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้พืชกระท่อมและกัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่สำหรับประเทศไทย พืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว มีการกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง ทั้งที่ในสภาพควมเป็นจริงพบว่า มีผู้ป่วยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้มีราคาแพงและอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และตำรับยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำ การศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง