ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกรัฐบาลเผยการปรับปรุงค่าตอบแทนจะเป็นการปรับขึ้นประมาณร้อยละ 10 โดยระบุว่าเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และให้มีผลย้อนหลังกลับไปถึงปี 2557

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (13 ก.พ.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 10 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวกับการปรับปรุงค่าตอบแทน เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งให้กับศาล องค์กรอิสระ และข้าราชการอัยการ โดยเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นประมาณร้อยละ 10 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

กลุ่มที่เข้าข่ายได้รับการปรับเงินเดือนจะประกอบด้วยศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการ กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรรมการ กสม. อนุกรรมการ กสม. และข้าราชการฝ่ายอัยการ 

ทั้งนี้ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า "ศาลปกครองและศาลยุติธรรม นอกจากเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ยังมีเงินค่าครองชีพชั่วคราว ซึ่งเป็นตัวเงินที่เขากำหนดเองได้ประมาณ 12,000 บาท วันนี้มีการหารือในรายละเอียด จะไม่มีเงินเพิ่มพิเศษแบบนี้แล้ว จะเอาไปรวมในเงินค่าตอบแทน และวันข้างหน้าไม่ต้องคิดเงินเพิ่มพิเศษตลอดไป เขายอม ถือเป็นการประหยัดเงินของแผ่นดิน" 

รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยประกาศกฎหมายปรับเงินเดือนครั้งใหญ่แก่ข้าราชการทั่วประเทศเมื่อปี 2558 โดยเป็นการปรับขึ้นร้อยละ 10 ทั้งข้าราชการพลเรือน ข้าราชการรัฐสภา ข้าราชการครู และข้าราชการตำรวจ 

ขณะที่เดือน เม.ย.ปีที่แล้ว มติ ครม.เห็นชอบให้ขึ้นเงินเดือนและบำเหน็จความชอบ 2 ขั้นแก่ผู้ปฏิบัติงาน คสช. 721 คน โดยให้เหตุผลว่าแต่ละคน "ทำงานหนักและเสียสละ"

อ่านเพิ่มเติม: