ไม่พบผลการค้นหา
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็ก-กลาง ตกต่ำหนัก โดยปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจไทย-โลก เรียกร้องรัฐบาลเพิ่มมาตรการแก้ไข

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ หรือ สอท. เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 2562 อยู่ในระดับ 91.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.1 ในเดือน ก.ย. โดยเป็นการปรับตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือนนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 ซึ่งผลการสำรวจยังสะท้อนว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในทิศทางลดลงเช่นเดียวกัน จากระดับ 103.4 ในเดือน ก.ย. มาอยู่ที่ 102.9 ในเดือน ต.ค.

ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากของความเชื่อมั่นที่ตกต่ำของผู้ประกอบการและความกังวลถึงบรรยากาศการค้า จากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1.กำลังซื้อในแต่ละภูมิภาคของประเทศยังชะลอตัว 

2.ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ขาดสภาพคล่องทางการเงินเนื่องจากสถาบันการเงินและระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ 

3. สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงยืดเยื้อ 

4. การแข็งค่าของเงินบาทที่ลดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการลง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อลงไปดูรายอุตสาหกรรม หากวัดจากขนาดอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่มีบุคลากรประมาณ 1- 49 คน อาทิ อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมเครื่องจักรทางการเกษตร มีความมั่นใจต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่

ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักร หรือ อุตสาหกรรมพลาสติก ผู้ประกอบการยังมีความมั่นใจดี

อย่างไรก็ตาม รองประธาน สอท.ชี้ว่าปัจจัยบวกในเดือน ก.ย. ยังมีอยู่บ้าง เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับอานิสงส์จากเทศกาลช่วงปลายปีทั้งวันคริสต์มาสและเทศกาลขอบคุณพระเจ้า ทำให้มียอดขายและคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะยอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นและอาหาร พร้อมกันนี้ ยังมองว่ามาตรการชิมช้อปใช้เฟสต่างๆ ส่งผลต่อยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ซึ่งชิมช้อปใช้ ควรมีต่อไป แต่ต้องสอนให้คนหัดจับปลาเองบ้าง

แนะรีบเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อคืนความเชื่อมั่นกลับมา

นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้รัฐบาลจะออกมาบอกว่า ปัญหาที่สหรัฐฯ จะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ไทย ไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตสินค้ามากนัก แต่ในฝั่งของผู้ประกอบการ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสหรัฐฯ กลับส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะหากการตัดสิทธิพิเศษมีผลบังคับใช้จริงในปี 2563 สินค้าส่งออกของไทยที่ปัจจุบันราคาสูงอยู่แล้วจากเงินบาทที่แข็งค่าจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง

ด้วยเหตุนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงมีความเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งเจรจาขอคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP กับสหรัฐ ขณะเดียวกันก็ควรเร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยกับสหภาพยุโรป หรือ เอฟทีเอไทย-อียู (Thailand-EU Free Trade Agreement) เพื่อเพิ่มช่องทางทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ

พร้อมกันนี้รัฐบาลควรให้ความรู้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยต้องการให้ ธปท. ออกมาตรการที่ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเข้ามาหารือร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ