ไม่พบผลการค้นหา
ทนายรับผิดชอบคดีเสื้อแดง ชี้ 10 ปี สลายชุมนุมปี 2553 ไม่คืบ เพราะผู้มีอำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความผู้รับผิดชอบคดีสลายการชุมนุมปี 2553 เปิดเผยความคืบหน้า การดำเนินคดีกับผู้ปฏิบัติการผู้สั่งการสลายการชุมนุม จนนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในช่วงเดือนเม.ย.และพ.ค. โดยระบุว่าก่อนหน้านี้คดีที่ญาติผู้สูญเสีย ร่วมกันฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. คดีได้ยุติในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. โดยคณะกรรมการได้ชี้ว่า นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ออกคำสั่งตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย

โดยในประเด็นดังกล่าวนายโชคชัยมีความเห็นแย้ง ว่าการกระทำและคำสั่งการของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไปไกลเกินกว่าที่พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้รับรองไว้ เช่น มีการใช้กำลังทหารพร้อมเครื่องกระสุนจริงสลายการชุมนุมประชาชน ออกคำสั่งเพื่อประกาศเขตใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่เกินกว่ากฎหมายรองรับ และไม่เป็นไปตามหลักการสากล แต่คดีดังกล่าวได้ยุติไป ซึ่งนายโชคชัยเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมและยังมีอำนาจต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เลื่อนฟังคำสั่งอุทธรณ์ ฟ้องทหารยิงเสื้อแดง

ขณะที่การฟ้องผู้ปฏิบัติงานผู้บังคับหน่วย ก่อนหน้านี้ญาติผู้เสียชีวิต คือภรรยาของนายพัน คำกอง ได้ให้ความร่วมมือกับตนเอง รวบรวมพยานหลักฐาน คำสั่งจากศาลที่ไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตเพื่อฟ้องผู้บังคับหน่วย ซึ่งออกคำสั่งปฏิบัติการจนทำให้นายพัน คำกอง เสียชีวิต ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาศาลอาญาได้พิพากษายกคำร้องเนื่องจากเห็นว่า ผู้ปฏิบัติงานเป็นเจ้าพนักงานทหารจึงต้องฟ้องคดีต่อศาลทหาร 

นายโชคชัยในฐานะทนายจึงได้หารือกับญาติผู้เสียชีวิต และดำเนินการแก้ไขคำฟ้อง เพื่อยื่นอุทธรณ์ ว่าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกับพลเรือน ซึ่งเมื่อร่วมกับพลเรือนเขตอำนาจการพิจารณาคดีจะกลับมาอยู่ที่ศาลอาญา จากนั้นจึงได้ยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันที่ 21 เม.ย. 2563 แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จึงต้องเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป โดยศาลจะนัดฟังคำสั่งอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามนายโชคชัยมั่นใจว่า จากคำฟ้องและพยานหลักฐาน หากกระบวนการเป็นไปตามกฎหมายศาลจะรับฟ้อง นำคดีเข้าสู่การไต่สวนต่อไป ซึ่งหากทิศทางออกมาเป็นเช่นนั้นนายโชคชัยเตรียมเขียนคำร้อง เพื่อฟ้องในคดีของผู้เสียชีวิตรายอื่นๆต่อไปเช่นกัน โดยเฉพาะคดีที่ศาลได้พิพากษา ไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตว่ามาจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่เข้าสลายการชุมนุมในเวลานั้น

นายโชคชัย ย้ำว่าสำหรับคดีที่ศาลได้ไต่ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตไปแล้ว 27 ราย และมี 21 รายที่ศาลชี้ว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ปฏิบัติงาน และผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม สามารถระบุได้ชัดเจนว่าผู้ปฏิบัติงานสังกัดใดหน่วยใด หากศาลอุทธรณ์ยังไม่รับคดีดังกล่าวไว้พิจารณา ญาติผู้เสียชีวิตและทนายความจะต้องติดตาม เพื่อทวงถามความยุติธรรมต่อไป และเชื่อว่าหากโครงสร้างทางอำนาจเปลี่ยนแปลง ช่องทางการดำเนินคดีต่างๆ จะรวดเร็วและเป็นธรรมมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม