ไม่พบผลการค้นหา
"ธนาธร" บรรยายพิเศษชำแหละ งบฯ กลาโหม สงสัยเงินนอกงบประมาณ 1.9 หมื่นล้าน ปชช.ตรวจสอบไม่ได้ เผยกฎหมาย 3 ฉบับ เอื้อ 'กลาโหม' ย้ำต้องโปร่งใส

ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ ตึกไทยซัมมิท​ทาวเวอร์​ นายธนา​ธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จัดบรรยายพิเศษ ถึงความไม่เหมาะสมและความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหม 

นายธนาธร เริ่มต้นการบรรยายด้วยการให้ภาพรวมของงบประมาณปี 2563 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 ซึ่งมีทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า 2.7 ล้านล้านบาทมาจากภาษีของประชาชน ส่วนอีก 5 แสนล้านบาทมาจากเงินกู้ที่รัฐบาลตั้งงบขาดดุลเอาไว้ ซึ่งในงบประมาณทั้งหมดนี้เป็นงบของกระทรวงกลาโหม​ 23,3000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้เรียกว่าเงินในงบประมาณที่สามารถตรวจสอบและสั่งตัดได้ 

แต่มีเงินงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งที่เรียกว่าเงินนอกงบประมาณ​เป็นจำนวน 19,000 ล้านบาท เงินในส่วนนี้ไม่สามารถตรวจได้ ซึ่งไม่รู้เลยว่าเงินนอกงบประมาณมาจากไหน ใช้ไปทำอะไร ใครเป็นคนสั่งจ่าย เอาไปใช้ที่ไหนอย่างไร ถามว่าเงินจำนวนนี้มีมากขนาดไหน เงินนี้สามารถทำให้ทระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินงานได้ โดยไม่ต้องใช้ภาษีของประชาชน นี่คือความใหญ่ของเงิน 19,000 ล้านบาท

เผยกฎหมาย 3 ฉบับ เอื้อ 'กลาโหม'

นายธนาธร กล่าวว่า จากการที่กองทัพออกมาโต้ว่าเงินนอกงบประมาณจำนวนนี้ นำเอาไปในการบูรณาการเพื่อดูแลประชาชน ตนคิดว่าประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่การใช้งบประมาณต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่ในวันนี้ไม่มีใครมองเห็นว่ารายรับของงบส่วนนี้มาจากไหน และรายจ่าย จ่ายไปที่ใด ขนาดอดีต ส.ส. อย่างตน ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนมองไม่เห็น ประชาชนยิ่งไม่มีทางมองเห็นและตรวจสอบได้

"เงินนอกงบประมาณของกระทรวงต่างๆ นั้นสามารถตรวจสอบได้ เว้นแต่ของกระทรวงกลาโหมเพียงกระทรวงเดียวที่เราไม่รู้ และไม่สามารถขอข้อมูลใดๆ ได้ และความพิเศษนั้นอยู่ที่กฎหมาย 3 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันที่ให้กระทรวงกลาโหมมีความพิเศษบางอย่าง คือ

1. พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 มาตรา 61(3) อธิบายไว้ว่า เงินนอกงบประมาณทั้งหมดต้องปฏิบัติตามที่กฏหมายกำหนด ซึ่งหมายความว่าอย่างน้อยยังตรวจสอบได้ แต่ท่อนหลังได้อธิบายไว้ว่า ยกเว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น

2. ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่าย การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และการนำส่งคลัง 2562 ในข้อ 8 อธิบายไว้ว่า การเบิกจ่าย การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงินของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ยึดถือข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงิน ซึ่งได้รับความตกลงจากกระทรวงการคลัง นั้นหมายความว่า ไม่มีกระทรวงไหนได้รับสิทธิพิเศษนี้นอกจากกระทรวงกลาโหม

3.ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการเงิน ปี 2555 ได้อธิบายไว้ว่า ให้แบ่งเงินนอกงบประมาณออกเป็นสองประเภท ซึ่งประเภทแรกให้ทำตามกฎหมายแบบที่กระทรวงอื่นๆทำทั้งหมด แต่เงินนอกงบประมาณประเภทที่สองอธิบายไว้ว่า สามารถตั้งระบบบัญชีเองได้และสามารถตั้งระบบตรวจสอบเองได้ นั้นหมายความว่า ระบบบัญชีของรัฐที่เป็นสากลใช้กันทั่วโลก ใช้ไม่ได้เงินนอกงบประมาณในส่วนที่สองนี้" นายธนาธร กล่าว

ธนาธร

สงสัยเงินสัมปทานสถานีโทรทัศน์-วิทยุ

นายธนาธร ยังได้บรรยายถึงรายได้ของนายพล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เกิดจากกระรัฐประหารปี 2557 เฉลี่ยแล้วมีรายได้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 12 ล้านบาทต่อปี, รวมถึงระบุว่า สิ่งแรกที่ได้เข้าไปดูในฐานะกรรมการงบประมาณปี 2563 ที่เห็นได้ชัด คือ การเช่าสัญญาณโครงข่ายภาคพื้นดิน หรือ (MultiPlexer-MUX) ทั้ง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 มีรายได้ 6,214 ล้านบาท กับ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 ที่ปล่อยสัมปทานตั้งแต่ปี 2512 รวม 50 ปี ได้เงินเพียง 4,212 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้ผู้บริหารช่อง 7 กลายเป็นหนึ่งในผู้ที่รวยที่สุดในประเทศและเมื่อหมดสัญญา ช่อง 7 ก็ไม่ได้มีการเปิดประมูลเช่าช่องสัญญาณ 

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมยังมีการปล่อยเช่าสัญญาณวิทยุอีก 537 สถานีในเหล่าทัพต่างๆ ตนจึงได้ถามผู้เกี่ยวข้องที่มาชี้แจงต่อกรรมาธิการซึ่งยังไม่ได้คำตอบ ในคำถามสำคัญๆ ทั้งรายได้จากการใช้ทรัพยากรวิทยุย้อนหลัง, รายชื่อบริษัทผู้บริหารหรือสัมปทานคลื่นวิทยุ, รายละเอียดเงินนอกงบประมาณ จนถึงที่มาของรายได้และรายจ่ายเงินนอกงบประมาณ ย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งต้องรอดูว่าผู้มีอํานาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้

กองทัพขาดทุนยับ

นายธนาธร เปิดเผยว่า ตรวจสอบ พบบริษัทที่มีบทบาทสำคัญคือ RTA Entertainment หรือบริษัท Royal Thai Army Entertainment ซึ่งผู้ถือหุ้นบริษัทอันดับ 1 คือกองทัพบก 50% ลำดับที่ 2 ถึง 15 มี 14 รายนั้นเป็นนายทหารทั้งหมด โดยข้อมูลกรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ตามรายงานของผู้สอบบัญชี ปี 2561 ระบุถึง RTA มีนัยว่าจะเจ๊ง เพราะขาดทุนสะสม 1,000 ล้าน ขณะที่ทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งพบว่า กองทัพบก ปล่อยเงินกู้ให้ RTA โดยไม่มีดอกเบี้ย 1,200 บาท เพื่อเอาไปลงทุนในตลาดหุ้น โดยซื้อหุ้น 2 ตัว 1 ในนั้นคือหุ้นธนาคารทหารไทย ด้วยเงินรวมกว่า 1,400 ล้านบาท แต่ราคาหุ้นตก เหลือราคาเพียง 400 ล้านบาท จึงขาดทุน 1,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ยืนยันว่า ต้องพูดให้สาธารณชนรับรู้ เพื่อหวังให้กองทัพต้องอธิบายต่อสาธารณชนให้ถูกต้อง ว่าทำไม หุ้น 50% ของ RTA ถือโดยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีการเปลี่ยนมือมาตลอดตั้งแต่ปี 2547 ที่ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา แต่ไม่ได้บอกว่ามีการทุจริต แต่สิ่งสำคัญคือความโปร่งใสของการใช้งบประมาณ

กังขาสนามม้า-มวย เม็ดเงินสะพัดหลายร้อยล้าน

นายธนาธร ยังระบุถึง สนามมวยลุมพินี ที่บริหารโดยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งยังไม่รู้สถานะชัดเจนว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นของรัฐหรือเป็นเอกชน แต่ที่ชัดเจนคือ ตั้งอยู่ในค่ายทหาร ภายใต้กรมสวัสดิการกองทัพบก แต่ไม่มีโครงการนี้ในกรม ส่วนกองการกีฬาทหารบก มีข้อมูลระบุเพียงว่าสนามมวยนี้เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้อยู่ในสังกัด โดยงบประมาณก่อสร้าง 380 ล้านบาท รายได้ต่อปีประมาณ 400 ล้านบาท มีบริษัทรับถ่ายทอดสด แต่ไม่ทราบว่าจ่ายค่าสัมปทานหรือประมูลกับใคร หน่วยงานไหน และการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง คือ ไม่มีการประมูล ซึ่ง 70 % การจัดซื้อจัดจ้างทำกับ 1-2 บริษัทเท่านั้น

เช่นเดียวกับ "สนามม้า" มีที่อังรีดูนังต์เและที่นางเลิ้ง ที่ย้ายไปที่จังหวัดนครราชสีมา ก็ไม่ทราบสถานะว่าเป็นนิติบุคคล เป็นของรัฐหรือเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นกัน แต่พบ 3 องค์กรเกี่ยวข้องคือ อัศวราชสีมาสโมสร, องค์การค่ายสุรนารีและองค์การทหารผ่านศึกราชสีมา แต่ไม่ทราบผู้บริหาร รู้เพียงว่าสนามม้านี้อยู่ในค่ายสุรนารี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

นายธนาธร อ้างถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทยปี 2524 ระบุว่า ให้ผู้จัดแข่งขันม้า ต้องขออนุญาตกระทรวงมหาดไทยทุกเดือน จึงต้องถามว่า ใครเป็นผู้ถือใบอนุญาตการพนันแข่งม้าตามระเบียบนี้ และเมื่อไปถามผู้ว่าราชการจังหวัดก็ถูกไล่กลับบ้านโดยไม่ได้คำตอบ

จึงได้ตั้งคำถามต่อผู้แทนกระทรวงกลาโหม ถึงรายได้เข้าหน่วยงานใดบ้าง หลักฐานการดำเนินกิจการและเอกสารทางการเงินและบัญชีต่างๆ ซึ่งต้องรอดูคำตอบ โดยมี ส.ส.ของพรรคในกรรมาธิการงบประมาณ ติดตามเรื่องทั้งหมดนี้อยู่

นายธนาธร กล่าวด้วยว่า ไม่ได้บอกว่าเรื่องธุรกิจสนามแข่งม้าและสนามมวย ควรยกเลิกหรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องการคือ ถ้าจะมีก็ควรจะเปิดประมูลอย่างโปร่งใส ทำสัญญาให้ชัดเจนให้ทุกอย่างตรวจสอบได้ เพื่อไม่ต้องมีเงินใต้โต๊ะ และจะได้ไม่ต้องมีข้อกังขาอย่างที่ผ่านๆ มาก

1439861.jpg

สับงบ IO ไร้รายงาน - สร้างความเกลียดชัง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปฏิบัติการฐานข้อมูลข่าวสาร หรือ IO ของกองทัพและกระทรวงกลาโหม มีหลายเพจ ที่ใช้โจมตีทาง Social Media อย่างเดียวและหลายเพจปิดไปแล้ว อย่างเพจกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 152 ระบุว่าเป็นบริการของภาครัฐ ที่ตั้งอยู่ในค่ายทหารชัดเจน แต่ที่สำคัญคือ ไม่มีในรายงานงบประมาณของกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย IO ซึ่งสะท้อนด้วยว่า ความเกลียดชังกันของคนในสังคมนั้นถูกสร้างขึ้น ไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วคนเกลียดชังกันเอง

อีกทั้งการใช้งบประมาณของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน.ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่เด็กและเยาวชน มีภารกิจส่งเสริมและเผยแพร่ "ความจริงที่ถูกต้อง" เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นิยามและความจริงที่ว่านั้นคืออะไร ขณะที่ความจริงของ กอ.รมน.กับคนทั่วไปอาจจะแตกต่างกัน ดังนั้น เพียงเริ่มต้นว่าทุกคนต้องเชื่อความคิดที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว นอกจากไม่เคารพความหลากหลายแล้วยังเป็นเรื่องน่ากลัว

แฉเสนองบฯ เกินจริง 

นายธนาธร ระบุถึง งบฯ กลาโหม 2 แสน 3 หมื่นล้านบาท มีงบผูกพันในอนาคตด้วย ตามกฎหมายให้ตั้งไม่เกิน 10 % โดยปี 2563 มากสุดคือ กระทรวงคมนาคม ซึ่งเข้าใจได้ แต่อันดับ 2 คือ กระทรวงกลาโหม ที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมางบผูกพันเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า จากปี 2553 งบผูกพัน 1 หมื่น 9 พันล้านบาท แต่ปี 2563 มีงบผูกพัน 4 หมื่น 3 พันกว่าล้านบาท โดยอ้าวว่า เอาไปใช้พัฒนาขีดความสามารถกองทัพ หรือ ซื้ออาวุธ และการดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ ที่หนึ่งในนั้นคือ การสร้างบ้านพักรับรองแจก VIP กองทัพเรือราคาเป็น 100 ล้านบาท ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาขนและสวัสดิการของทหาร

นายธนาธร ยังตั้งขอสังเกตว่า รายจ่ายลงทุนของกระทรวงกลาโหม ปี 2559 เพิ่มจาก 3,700 ล้าน เป็น 46,000 ล้านบาทและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เเต่เบิกใช้จริงจากเกือบ 100 % แล้วลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2562 กระทรวงกลาโหมเบิกใช้จ่ายจริงเพียง 40 % เท่านั้น หรือ เป็นการตั้งงบประมาณไว้มาก แต่ไม่มีความสามารถในการใช้จ่ายจริง ซึ่งเบียดบังงบประมาณที่จะไปใช้อย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบชลประทาน, สาธารณูปโภคและสวัสดิการรวมถึงการศึกษา หรือทำให้กระทรวงอื่นไม่มีโอกาสที่จะนำงบประมาณรายจ่ายในการลงทุน ซึ่งนายธนาธร ได้เสนอในกรรมาธิการงบประมาณปี 2563 ให้ตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลง 40 % เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้จ่ายจริงที่ใช้แค่ 40% ซึ่งถ้าตัดงบตามความเป็นจริงน่าจะเป็น 60% ด้วยซ้ำ

เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นายธนาธร กล่าวทิ้งท้ายว่า ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 งบบัตรสวัสดิการถ้วนหน้าหรือบัตรทองสูงกว่างบกลาโหม แต่หลังรัฐประหารปี 2549 งบประทรวงกลาโหม เฉลี่ยต่อหัวประชากร สูงกว่างบประมาณของบัตรทอง และยืนยันว่า ธุรกิจเกี่ยวกับมวย หวยและม้าแข่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของกองทัพที่นายพล มักอ้างความมั่นคงหรือเตรียมพร้อมที่จะรบแต่อย่างใด

นายธนาธร ยืนยันว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนอย่างน้อยจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ถูกบรรจุไว้หรือแปรมาเป็นมาตราสำคัญๆ ในรัฐธรรมนูญ 2540 มีหลายอย่างทั้งให้ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง, สื่อมวลชนต้องมีอิสระ, ประชาชนต้องตรวจสอบให้เข้าถึงข้อมูลของรัฐ, การเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชน, การกระจายอำนาจจากส่วนกลาง เกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่น่าเสียดาย หลังพฤษภาคม 2535 มีการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ ที่แทบจะเป็นวาระเดียวที่คนเห็นร่วมกัน แต่ลืมทำในรัฐธรรมนูญ 2540 ดังนั้น เมื่อได้รัฐบาลประชาธิปไตยจำเป็นต้องผลักดันเรื่องนี้

เชื่อมั่น การนำของ "ปิยะบุตร" ในสภา

นายธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีทำลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐสภารวมถึงกรรมาธิการ พิจารณางบประมาณประจำปี 2563 โดยระบุว่า พรรคอนาคตใหม่ ยังยืนยันและทำงานใน สภาผู้แทนราษฎรอย่างเข้มแข็งและเชื่อมั่น การนำของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ที่จะทำหน้าที่ในสภาด้วยความเข้มแข็งและสร้างสรรค์ 

ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ได้พิสูจน์ตัวเองและทำตามที่เคยหาเสียงไว้แม้เป็นฝ่ายค้าน โดยได้แปลงนโยบายจากที่เคยหาเสียงทั้งการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร, สวัสดิการแรงงาน และการยกเลิกคำสั่ง คสช.มาเป็นการเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

นายธนาธร เลี่ยงที่จะกล่าวถึง การที่ผู้สนับสนุนพรรคและมวลชน อาจจะลงมาต่อสู้บนท้องถนน โดยระบุว่า ตัวเองไม่สามารถยืนยันหรือรับประกันว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้ เพราะทุกอย่างอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ซึ่งหากสิ่งที่ตัวเองทำ ประชาชนไม่เห็นด้วย ก็ไม่ร่วมกับตัวเองอยู่ดี