ไม่พบผลการค้นหา
แรงงานไทยหนี้สูง รายได้ไม่พอรายจ่าย นักวิชาการชี้ต้องรีบตั้งรัฐบาลทวงคืนความเชื่อมั่น ผลักดันเศรษฐกิจภาพรวม

ผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ในกรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนให้เห็นภาระหนี้ที่มากขึ้นของแรงงานไทยรายได้น้อย

ตัวเลขการสำรวจพบว่า แรงงานไทยมีภาระหนี้กว่าร้อยละ 95 โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 158,855.86 บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 58.2 และหนี้นอกระบบร้อยละ 41.8 สำหรับวัตถุประสงค์หลักในการกู้ ผู้ตอบแบบสอบถามให้น้ำหนักกับค่าใช้จ่ายประจำวัน ยานพาหนะ และค่ารักษาพยาบาล ในอัตราร้อยละ 36.8, 19 และ 15.7 ตามลำดับ 

อีกทั้ง ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยังพบว่า แรงงานไทยประสบปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2553 หนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 91,063.90 บาท และเร่งตัวขึ้นเป็น 158,855.86 บาทต่อครัวเรือนในปี 2562 หรือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพี


ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย

ผศ.ดร. ธนวรรธน์ ผลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แท้จริงแล้วทุกอย่างในเชิงเศรษฐกิจจะมาสะท้อนความจริงในตลาดแรงงาน หากแรงงานมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี แปลว่ามาตรการที่บังคับใช้หรือสภาพเศรษฐกิจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ 

ภาระหนี้ที่มากขึ้น ประกอบกับตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่สูงถึงร้อยละ 80.3 จากเมื่อปี 2553 แรงงานไทยผิดนัดชำระหนี้อยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 69.9 สิ่งนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะสรุปว่าเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะที่ดี 

ต้องตั้งรัฐบาลไว 'แรงงานไทย' ถึงจะรอด

เสียงสะท้อนหลักจากประชาชนในการสำรวจครั้งนี้ คือแรงงานถึงร้อยละ 29.6 มองว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อยู่ในสภาวะ "แย่มาก" และมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศมากถึงร้อยละ 57.7 ส่วนเรื่องที่แรงงานอยากให้รัฐบาลเข้ามาจัดการอันดับแรกคือ ค่าครองชีพ ที่อัตราส่วนร้อยละ 56.4 และการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ที่อัตราส่วนร้อยละ 52.6 

นายธนวรรธน์ อธิบายว่า สาเหตุที่แรงงานอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องค่าครองชีพเป็นอันดับแรกแสดงให้เห็นว่า แรงงานเข้าใจความลำบากที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญจึงอยากให้รัฐบาลมุ่งหน้าการแก้ไขไปที่ค่าครองชีพมากกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบันยังทำให้แรงงานมีความกลัวต่อการเปลี่ยนงานใหม่ กว่าร้อยละ 48 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่าโอกาสในการเปลี่ยนงานใหม่เป็นเรื่องยากถึงยากมาก

เนื่องจากประเด็นเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในมิติเศรษฐศาสตร์มหภาคที่จำเป็นต้องให้รัฐบาลเป็นผู้แก้ไขและขับเคลื่อน สถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบันจึงรังแต่จะบั่นทอนเศรษฐกิจให้อ่อนตัวลง ด้านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ที่ออกมาราวร้อยละ 3.2 ถึง 3.3 บวกกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการลงทุนจากภาคต่างประเทศ

หากประเทศไทยยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไว อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศช่วงครึ่งปีหลังที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 4 อาจตกลงมาที่ร้อยละ 3.5 และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานค่าแรงน้อย ทั้งในเรื่องการถูกลดชั่วโมงทำงาน หรือการตกงาน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ซึ่งจะไปสะท้อนในภาระหนี้ที่มากขึ้น


"มันอยู่ที่ครึ่งปีหลังว่ารัฐบาล(ใหม่)มาเร็วไหม เศรษฐกิจอาจโตแค่ร้อยละ 3.5 - 3.6 และเราเชื่อว่าหนี้ในระบบเต็มแล้ว เขาจะวิ่งเข้าไปหาหนี้นอกระบบมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

ทางออกที่ทำได้ในขณะนี้คือการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจในช่วงสุญญากาศทรุดมากเกินไป

นายธนวรรธน์แนะนำมาตรการช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเพื่อส่งเสริมการส่งออก และกระตุ้นมาตรการท่องเที่ยวในประเทศโดยย้ำว่าให้ทำในภาพรวม ไม่ใช่เพียงแค่ให้เงินคนรายได้น้อยเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :