ไม่พบผลการค้นหา
'ผจก.ไอลอว์' ชี้เส้นแบ่งการควบคุมโรคกับสิทธิส่วนบุคคล สิ่งสำคัญอยู่ที่ "ประชาชนไว้ใจรัฐแค่ไหน" มอง ศบค.ยังอธิบายไม่ชัดเรื่องระบบตรวจสอบถ่วงดุล ไม่เคลียร์มาตรการรับประกันข้อมูลที่เก็บไปจะไม่ถูกเอาไปใช้เรื่องอื่น

แพลตฟอร์ม "ไทยชนะ.com" จากรัฐบาล หนึ่งในมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในช่วงผ่อนปรนระยะที่ 2 ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส หลังจากมีประชาชนจำนวนมากกังวลใจในการมอบข้อมูลส่วนบุคคลแก่รัฐ กรอกหมายเลขโทรศัพท์ "เช็คอิน-เช็คเอาท์" เข้าสถานประกอบการ 

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (iLaw) บอกกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ช่วงเวลานี้ทุกประเทศมีความพยายามจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการปัญหาโควิด ซึ่งเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลทุกประเทศอยากรู้ คือ ประชาชนแต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร ซื้อของอะไร ใช้จ่ายอะไร และไปที่ไหนมาบ้าง เมื่อพบคนติดเชื้อจะได้ตามไปแกะรอยได้ 

ในอุดมคติหากข้อมูลนี้มีมากพอ มีประสิทธิภาพพอ ก็สามารถแกะรอยกลุ่มเสี่ยงได้เร็ว ควบคุมโรคได้ชะงักงัน แต่ในทางเทคโนโลยี มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย อย่างไรก็ตามในแง่นี้ก็ต้องเข้าใจรัฐด้วยที่พยายามจะพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ในทางตรงกันข้าม ถ้ารัฐไหนไม่พยายามจะทำเลย ก็จะถูกประชาชนด่าอีกแบบหนึ่งว่า ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ

นายยิ่งชีพ บอกว่า จากประสบการณ์หลายๆ ประเทศพอเห็นได้ว่า เส้นแบ่งระหว่างการควบคุมโรคกับสิทธิส่วนบุคคล ยังเป็นพื้นที่ที่ถกเถียงกันอยู่ ขึ้นอยู่กับว่า รัฐแต่ละประเทศ ประชากรแต่ละประเทศมีความตื่นตัว ห่วงใยเสรีภาพแค่ไหน ที่สำคัญ คือ "ประชาชนไว้ใจรัฐแค่ไหน" 

"ถ้าหากประชาชนไว้ในการออกแบบระบบและเก็บข้อมูล เชื่อมั่นว่า จะใช้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น จึงร่วมมือเต็มที่ โอกาสสำเร็จก็มีสูง แต่หากประชาชนไม่เชื่อมั่น หลีกเลี่ยงที่จะร่วมมือ ระบบในอุดมคติก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้

"ถ้าประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ ใช้ระบบนี้ เช็คอินสม่ำเสมอ แต่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง หรือไม่ใช้เลย มันก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ คนกลุ่ม 50 เปอร์เซ็นต์ แรกก็กลายเป็นให้ข้อมูลไปโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย" 

ไทยชนะ โควิด สยามพารากอน -0A7C-4A5C-A07F-40B0AF804A69.jpeg

ผู้จัดการ iLaw กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยเห็นได้ชัดเจนว่า เราอยู่ในสภาวะที่ประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ ไม่ไว้ใจว่าจะทำตามสัญญา ไม่ไว้ใจว่าจะดูแลข้อมูลเป็นอย่างดี ไม่ไว้ใจว่าจะไม่เอาไปใช้ประโยชน์หรือกลั่นแกล้งกันในทางการเมือง และยังไม่ไว้ใจอีกว่า รัฐจะมีประสิทธิภาพเพียงพอสร้างระบบในฝันนั้นได้หรือไม่

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยืนยันว่า "ไทยชนะ.com" ปลอดภัย มีเจตนาเพื่อใช้ติดตามคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น ประชาชนไม่ต้องกังวลใจเรื่องอื่นๆ และจะเก็บข้อมูลอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งหรือ 60 วันเท่านั้น โดยยกตัวอย่างผู้ติดเชื้อที่เข้ารับบริการร้านตัดผมย่านประชาชื่นกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ซึ่งหากร้านลงทะเบียนกับ "ไทยชนะ.com" ก็จะสามารถติดตามหาตัวผู้ติดเชื้อและแจ้งต่อผู้มีโอกาสเสี่ยงได้ง่ายและรวดเร็ว 

เป้าหมายหลัก 2 ประการของไทยชนะ คือ

1.ประเมินความหนาแน่นของสถานประกอบการ เพื่อให้ร้านค้าสามารถบริหารจัดการและช่วยผู้ใช้ตัดสินใจว่าจะไปใช้บริการหรือไม่ 

2.การสอบสวนโรค เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด จากพิกัดสถานที่ที่บุคคลเข้าใช้บริการร้านค้าได้อย่างรวดเร็ว 

ทวีศิลป์ 125839000000.jpg

จากคำอธิบายของฝ่ายรัฐ นายยิ่งชีพ บอกว่า สิ่งที่ไม่ชัดเจน คือ ระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ไม่มีความชัดเจนถึงมาตรการที่จะรับประกันว่า ข้อมูลที่เก็บไปจะไม่ถูกเอาไปใช้เรื่องอื่น และไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนี้จะได้รับการยกเว้นโทษ หากทำผิด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ 

เมื่อประกอบกับประสบการณ์ที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 1 และประยุทธ์ 2 ที่สร้างความไม่มั่นใจให้ประชาชนไว้เป็นทุนเดิมมากมายแล้วยิ่งกลายเป็นว่า การจะสร้างความมั่นใจในการใช้แอปฯ นี้ เป็นงานที่ยากมากกว่าปกติมาก

"ผมคงตอบไม่ได้ว่าคำอธิบายที่มีอยู่ตอนนี้เพียงพอที่ประชาชนจะไว้ใจได้หรือเปล่า เพราะประชาชนแต่ละคนก็มีสิทธิตัดสินใจเองว่าอยากให้ข้อมูลกับใครหรือไม่ อย่างไร ก็ให้ทุกคนตัดสินครับ ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือ จนมีข้อมูลมากพอและระบบดีพอจะประมวลผลได้ ก็ถือว่าประชาชนมอบความไว้วางใจให้รัฐบาลนี้แล้ว แต่ถ้าไปไม่ถึงจุดนั้นก็คือประชาชนแสดงออกแล้วว่า ยังไม่ไว้ใจ” 

เขาบอกด้วยว่า ความน่ากังวลตอนนี้ ไม่ได้อยู่แค่ที่ประชาชนเจ้าของข้อมูลเท่านั้น แต่อยู่ที่ผู้ประกอบกิจการต่างๆ ที่ต้องถูกมาตรการบังคับให้ร่วมมือและทำตามนโยบายของรัฐเท่านั้น จึงจะเปิดกิจการได้ โดยผู้ประกอบการไม่มีโอกาสตั้งคำถาม หรือเลือกใช้มาตรการที่สมเหตุสมผล กับบริบทของกิจการและพื้นที่เลย แล้วประชาชนก็กลายเป็นถูกบีบบังคับจากผู้ประกอบการอีกชั้นหนึ่ง

หากประชาชนไม่พอใจมาตรการ หรือการบังคับให้ใช้แอปฯ สิ่งที่เกิดขึ้่นคือคนก็ไม่เข้าร้านนั้นแล้วเลือกไปเข้าร้านอื่นแทน กลายเป็นผู้ประกอบการเป็นผู้เสียประโยชน์ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดด้วย การที่รัฐออกมาตรการบังคับผู้ประกอบการ และเพิ่มภาระหรือเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการจึงควรมีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนที่เหมาะสมด้วย

ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้งานแพลตฟอร์ม ไทยชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 17–21 พ.ค.ที่ผ่านมา พบข้อมูลดังนี้  

  1. จำนวนกิจกรรม/กิจการลงทะเบียน(ร้าน) จำนวน 73,295 ร้าน
  2. จำนวนผู้ใช้งาน (คน) 6,333,746 คน 
  3. จำนวนเข้าใช้งาน (ครั้ง)
  • เช็คอิน 11,570,610 
  • เช็คเอาท์ 8,652,113 
  • ประเมินร้าน 5,200,209

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :