ไม่พบผลการค้นหา
'นฤมล ภิญโญสินวัฒน์' อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เข้าป้าย 'โฆษกหญิง' แห่งนารีสโมสร ทันทีที่ 'โผนิ่ง' เธอไม่ลังเลที่จะ 'ยื่นใบลาออก' จาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

และทันทีก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกอย่างเป็นทางการ กลุ่มไลน์ “รังนกกระจอก” ก็ส่งเทียบเชิญ “โฆษกรัฐบาลหญิงป้ายแดง” เข้ากลุ่มอย่างไม่เคอะเขิน

“วันนี้จะเชิญ โฆษก ฯ เข้ากลุ่มนะคะ” ก่อนจะเข้ากลุ่มในเวลา 12.30 น.

เป็นสัญญาณว่า ที่ประชุม ครม.พล.อ.ประยุทธ์ 2 ได้ไฟเขียวเป็นที่เรียบร้อยแล้วอย่างไม่พลิกโผ

ตำแหน่งแห่งหนในพรรค “สมฐานะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพรรค

หากจะกล่าวว่า "นฤมล" เป็นม้ามืดคงพูดได้ไม่เต็มปาก

เพราะเธอเป็น "สายตรง" นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค- รมว.คลังแห่งก๊วน 4 กุมาร

เธอร่วมลง "เรือแป๊ะ" ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี (ผช.รมต.) ประจำกระทรวงการคลัง (นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีต รมว.คลัง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1) และมี “เส้นใหญ่” เพราะเป็น “สำนักนิด้า” ศิษย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

"นฤมล" เป็นผู้อยู่ทั้ง "เบื้องหน้า-เบื้องหลัง" มือทำนโยบายบัตรคนจน-มารดาประชารัฐ เป็นอดีตอาจารย์ในแวดวงวิชาการ-วิจัย มีคำนำหน้าชื่อด้วยตำแหน่ง “ศาสตราจารย์”


นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พลังประชารัฐ 956589_7278788794310983680_n.jpg

“ศ.นฤมล” คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงวิชาการกว่า 15 ปี ก่อนผันตัวเองจาก “อาจารย์แหม่ม” ลงเล่นการเมืองในนามพลังประชารัฐ จนชื่อคุ้นหู-ติดตาจากการเป็นพิธีกรรายการ “อ.แหม่มขอเคลียร์” ในเพจพรรค คอยชงนโยบายประชารัฐ-เชือดเฉือนนโยบายคู่แข่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา

โปรไฟล์โฆษกรัฐบาลคนใหม่ ไม่ธรรมดา จบการศึกษาสถิติศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Master of Science (คณิตศาสตร์ประยุกต์) Georgia State University ประเทศสหรัฐอเมริกา

Master of Business Administration (Applied Economics) University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา Doctor of Philosophy (Finance) University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประสบการณ์ที่สำคัญเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน พ่วงด้วยสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก

จึงไม่แปลกว่าทำไมถึงตรงความต้องการของนายกรัฐมนตรี

“ต้องเป็นคนรอบรู้ เข้าใจระบบการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมโลกยุคโซเชียล ยุคดิจิทัลและมีความรู้เรื่องระบบราชการด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เคยกางคุณสมบัติโฆษกรัฐบาลคนใหม่

นฤมล โฆษกรัฐบาล bd16cbb5884c658b3ad5.jpg

ผลงานชิ้นแรกของ "โฆษกรัฐบาล" จะต้องแถลงนโยบายของรัฐบาลให้แปลงสารจากภาษาวิชาการมาเป็นภาษาชาวบ้าน หรืออธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้

เมื่อครั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ‘นฤมล’ ได้ "โชว์กึ๋น" ทางด้านเศรษฐกิจ สวยประหารเข้าตา 'ประยุทธ์' ผ่านการอภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 25-26 ก.ค.ที่ผ่านมา

“ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจมีหลายท่านอภิปราย ดิฉันอยากชี้ให้เห็นว่า 4 นโยบายที่สร้างความมั่งคั่งมีความครอบคลุมทุกภาคส่วน เพียงแต่แผนปฏิบัติการ อย่างที่ท่านนายก ฯ ได้แถลงไป ว่าจะมีการดำเนินการตามมา ตัวชี้วัดต่าง ๆ จะตามมาในภายหลัง สิ่งที่เป็นกังวลของผู้อภิปรายหลัก ๆ มี 2 เรื่อง คือ ความสามารถของรัฐบาลในการที่จะมีเงินที่จะทำนโยบายเหล่านั้นหรือเปล่า มีความพร้อมหรือไม่ที่จะทำ และ วินัยการเงินการว่าจะสามารถรักษาไว้ได้หรือไม่”

“ในฐานะที่เป็นนักวิชาการมาก่อนต้องเอาข้อมูลมาพูดกันบนหลักข้อเท็จจริง หันไปดูก่อนว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีเท่าไร มีอยู่ 210,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เป็นจำนวนมากกว่า 3.5 เท่าของหนี้ระยะสั้นของประเทศ จึงไม่มีความเสี่ยงอะไรเลยที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ฝ่ายใดจะมากล่าวอ้างกัน เป็นเรื่องของเงินทุนระหว่างประเทศมีเพียงพอ”

“ถ้าไปพูดถึงหนี้สาธารณะของท่านรองนายก ฯ สมคิด เมื่อวานท่านได้กล่าวแล้ว วันนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 42 ของจีดีพี ยังอยู่ในกรอบเพดานหนี้จะต้องไม่เกินร้อยละ 60 แหล่งที่มาของเงินทุนที่รัฐบาลได้แถลงเอาไว้ในนโยบายอยู่ในหน้าที่ 34 ได้บอกแหล่งที่มาของเงินที่จะมาทำนโยบายทั้งหลาย ก็มีทั้ง รายได้จากการจัดเก็บภาษี จากการกู้ จากกองทุนรวม ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนจากตลาดทุน และจากการร่วมทุนของภาครัฐและเอกชน และยังระบุไว้อีกว่าจะมีการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐ เช่น ทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ ในส่วนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน รองนายก ฯ สมคิดก็ได้กล่าวไปแล้วว่า มีการทำไปแล้ว เห็นผลแล้ว ระดมทุนแล้ว 44,700 ล้านบาท”

“นอกจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เราอาจจะมีกองทุนรวมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม กองทุนที่สร้างผลกระทบทางสังคม ซึ่งในต่างประเทศทำแล้วที่เรียกว่า Social impact fund ซึ่งรัฐได้บรรจุลงไปในแหล่งเงินทุนเช่นเดียวกัน”

“ผู้อภิปรายบางท่านพูดถึงการกู้ การทำงบขาดดุล ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะตั้งแต่สมัยปี 2554 (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) ก็มีงบขาดดุลปีละ 4 แสนล้าน 2 แสนล้านไล่มาเรื่อย เมื่อมาถึงรัฐบาลที่ผ่านมา (รัฐบาล-คสช.) ก็ทำงบขาดดุลเช่นเดียวกัน”

“แต่การทำงบขาดดุลของรัฐบาลที่ผ่านมา เม็ดเงินถูกนำไปเพื่อการลงทุน และถ้ามองไม่ข้างหน้า ท่านสมาชิกไม่ต้องกังวลเนื่องจากมีกฎหมายวินัยการเงินการคลังเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ระบุไว้ชัดเจนในมาตราที่ 20 (1) ว่างบประมาณที่ใช้ไปเพื่อรายจ่ายในการลงทุนไม่มีไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี”

“และ...ไอ้ตรงและเนี่ยยิ่งสำคัญ ต้องไม่น้อยกว่างบที่ทำขาดดุล แปลว่า ไอ้งบขาดดุลที่รัฐทำทั้งหมดต้องนำไปใช้ในการลงทุนเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะนำเงินไปใช้ไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาวให้กับประเทศ เพราะได้กำหนดไว้แล้วในกฎหมายวินัยการเงินการคลังชัดเจน”

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พลังประชารัฐ tled.jpg

“ในส่วนของหนี้ครัวเรือน ต้องเอาข้อเท็จจริงอีกด้านมาพูดกัน ถ้าเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2557 ในช่วงรัฐบาลไม่ต้องกล่าวถึง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 4.7 ล้านล้านบาท เป็น 10.44 ล้านล้านบาท หมายถึงเพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านบาท ภายในเวลา 3 ปีกว่า ๆ ถ้าคิดเป็นอัตราการเพิ่มก็คือ ร้อยละ 60 ในขณะที่ปี 2557 มาจนถึงปีปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนเพิ่มเพียง 2.4 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย”

"สุดท้ายสิ่งที่รัฐบาลบรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วนข้อแรก คือ การจัดการหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลงานที่ได้ทำมาสำเร็จเป็นอย่างดี และประชาชนหวังว่ารัฐบาลจะสื่อสารการจัดการหนี้นอกระบบและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้อย่างแท้จริง”

ขณะที่ "รองโฆษกรัฐบาล" ที่เกาะกระแสหน้าสื่อเหนียวแน่น ตกที่ “ดร.แด๊ก” ธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพลังประชารัฐ สายตรง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มสามมิตร จอม “ปะ-ฉะ-ดะ” แทน “นาย”

"ธนกร" ได้ดิบได้ดีเพราะ "ฝีปาก" ล้วนๆ หลังจากทำ " สงครามน้ำลาย" กับพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม ชนิดไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม แต่ก็ต้องมาตกม้าตาย-ตายเพราะปาก สะท้อนสไตลการทำงานการเมืองแบบป้ายสี-สาดโคลน

ประกอบกับ “โมเดลทีมโฆษก” ที่ “ถูกเซ็ต” ขึ้นไปบนตึกไทยคู่ฟ้า-ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การให้ “ดร.แด๊ก” นั่งเก้าอี้ “รองโฆษกรัฐบาลฝ่ายการเมือง” เพื่อไว้ “ตอบโต้” ใน “ประเด็น” ทางการเมือง

สูตรจึงตกผลึกมาเป็น 1 โฆษกรัฐบาลหญิง-มือเศรษฐกิจ “สายบุ๋น” ไว้แจกแจงมติคณะรัฐมนตรี-นโยบายเศรษฐกิจประชารัฐ

บวก 1 รองโฆษกรัฐบาลชาย “สายบู๊” ไว้ ปะ-ฉะ-ดะ ประเด็นทางการเมือง จากโควตาจากพลังประชารัฐ กับอีก 2 รองโฆษกรัฐบาลที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล คือ ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง