ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ ระบุกลางเวทีเสวนารัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า ชี้ไทยเป็นประเทศอันดับหนึ่งประเทศความเหลื่อมล้ำมากสุดในโลก เหตุคนรวยถือทรัพย์สินมากกว่าครึ่งของประเทศ วิพากษ์บัตรคนจนยังแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำไม่ได้ ขณะที่ด้านสาธารณสุขก็เกิดความเหลื่อมแพทย์กระจุกตัวในกรุงเทพฯ พร้อมเสนอให้รัฐบาลปฏิรูประบบภาษี - งบประมาณ เหตุประเทศกำลังเผชิญการจมตัวของชนชั้นกลาง

วันนี้ (10 ก.พ.) เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย WE FAIR) ร่วมกับโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะประชากรกลุ่มเพาะ (คคสส.) จัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัตรการ ในหัวข้อ 'รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า' เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับประเด็นการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาในประเทศไทย พร้อมทำความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนนโยบายภาครัฐในด้านสวัสดิการและสังคมและสุขภาวะ และเป็นการสร้างแนวทางความร่วมมือหรือข้อตกลงในการจัดทำนโยบายสาธารณะว่าด้วยรัฐสวัสดิการ การลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับพรรคการเมือง

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ผศ.ดร. ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ โดยเริ่มจากอธิบายความหมายของสัมประสิทธิ์จินี ที่ใช้วัดค่าความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆของแต่ละประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยรั้งอันดับที่หนึ่งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกตามรายงานของบริษัท หลักทรัพย์เครดิต สวิส จำกัด ในปี 2561 ประชากรที่มีรายได้สูงจำนวนร้อยละ 1 ของประชากรทั้งประเทศ ครอบครองทรัพย์สินถึงร้อยละ 66.9 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 58 


รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า.JPG
"เราต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่กลับยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น รัฐบาลพยายามมีการช่วยเหลือคนจน มีบัตรคนจน แต่ทำไมความเหลื่อมล้ำกลับมากขึ้น มันเกิดอะไรขึ้น" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ผศ.ดร. ปริญญา ระบุด้วยว่า ขณะนี้มีเพียง 4 ประเทศในโลกเท่านั้น ที่คนรวยถือครองทรัพย์สินมากกว่าครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย รัสเซีย ตุรกี และอินเดีย โดนสาเหตุหลักของปัญหามาจากการเมืองรวมศูนย์ ซึ่งส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจรวมศูนย์ นายปริญญาอธิบายเพิ่มว่า ในการเมืองแบบรวมศูนย์กลุ่มคนที่จะเข้าถึงอำนาจได้ก็คือกลุ่มที่มีอำนาจทางธุรกิจอยู่แล้ว ดังนั้นผลประโยชน์ต่างๆจึงตกอยู่ที่คนเพียงกลุ่มเดียว

ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า รัฐสวัสดิการที่ดีจะต้องมีความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำไปในตัว ไม่ใช่มีแต่ความเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะจะกลายเป็นประชานิยม ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาประเทศแต่เป็นกับดักทางการเมือง และสวัสดิการที่ดีต้องประกอบไปด้วยปัจจัย 4 และการศึกษา


รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า.JPG

สำหรับประเด็นความเหลื่อมล้ำนั้น ผศ.ดร. ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความเหลื่อมล้ำแท้จริงแล้วมาในหลายรูปแบบ อาทิ รายได้ รายจ่าย และทรัพย์สิน โดยส่วนที่ 'เครดิต สวิส' นำมาคิดคือ จำนวนที่ดินและการมีเงินสดในธนาคารของประชากรไทย อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

การศึกษาเป็นอีกประเด็นสำคัญของการเหลื่อมล้ำที่ยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก ผศ.ดร. ดวงมณี กล่าวว่า คนรวยร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ มีอัตราการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยถึงร้อยละ 100 ในขณะที่ร้อยละ 20 ของประชากรที่จนที่สุดในประเทศ มีอัตราการเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 5

สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข เกิดการกระจุกตัวของแพทย์ในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันแพทย์ 1 คน ในกรุงเทพฯ ดูแลผู้ป่วย 716 คน ในขณะที่ แพทย์ 1 คน ในบึงกาฬ ดูแลผุ้ป่วยถึง 5,900 คน 

"ไม่ว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำอยู่จริง" ผศ.ดร. ดวงมณี กล่าว

สังคมเสมอภาคและมายาคติ

ศ. ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงประเด็น 'สังคมเสมอภาค' โดยกล่าวว่า สังคมที่เสมอภาคไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีรายได้เท่ากันหรือมีทรัพย์สินเท่ากัน แต่เป็นสังคมที่ไม่มีประชาชนคนใดอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน รวมทั้งความรวยและความจนไม่เป็นเงื่อนไขในการกำหนดอนาคตชีวิตของคนๆหนึ่ง และที่สำคัญที่สุดคือการที่ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพตามที่ประชาชนพึงมี ซึ่งรัฐสวัสดิการที่ดีจะต้องตอบโจทย์ความเท่าเทียมและเสมอภาคตรงนี้ได้


รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า.JPG

ศ. ผาสุก ยกตัวอย่างประเทศในกลุ่มยุโรปว่า ประชาชนที่นั่นมีแนวคิดในการร่วมกันสร้างชาติและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยคนที่มีฐานะดีกว่าหรือมีรายได้มากกว่าก็เสียภาษีมากกว่า เป็นระบบขั้นบันได เพราะคนเหล่านั้นเชื่อในการลงทุนกับประเทศชาติของตน เพราะผลที่ตอบแทนกลับมาในรูปแบบของสวัสดิการต่างๆ คนเหล่านั้นก็ได้เช่นเดียวกับประชาชนที่มีรายได้น้อย 

หากมองเจาะไปที่ประเทศเยอรมนีในช่วยปลายศตวรรษที่ 19 เข้าศตวรรษที่ 20 เยอรมนีต้องเผชิญกับการประท้วงและสงครามต่างๆมากมาย จากการที่ลูกจ้างถูกนายจ้างเอาเปรียบ จนรัฐบาลอนุรักษ์นิยมในสมัยนั้นต้องนำระบบรัฐสวัสดิการเข้ามาใช้เพื่อบรรเทาความยากลำบากของประชาชน และเมื่อระบบนี้ประสบความสำเร็จประเทศอื่นๆจึงเริ่มนำไปใช้ตาม จนเกิดเป็นแบบจำลองสังคมยุโรป ที่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับแต่ละประเทศ

ศ. ผาสุก ย้อนกลับมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยหากนำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้ว่าจะต้องเผชิญอุปสรรคใ��บ้าง โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ อุปสรรคภายนอกและอุปสรรคภายใน

อุปสรรคจากภายนอกที่รัฐบาลต้องเผชิญ คือ การผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่นานาชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแต่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในประเทศเท่าที่ควร และการเปิดช่องให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีในหลายประเทศที่สถาปนาตัวเองเป็น "สวรรค์ของการหนีภาษี" หรือ Tax Heaven

ศ. ผาสุกชี้ว่าสำหรับอุปสรรคภายนอกนั้น รัฐบาลควรมีการพูดคุยและเจรจาในระดับนานาชาติรวมทั้งการจัดระบบบริหารจัดการภาษีกับบริษัทลงทุนต่างชาติให้ดีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ

สำหรับปัจจัยภายในที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างรัฐสวัสดิการคือมายาคติและความเชื่อผิดๆ อาทิ รัฐสวัสดิการจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับรัฐบาลเกินไป แพงเกินไป เป็นการปล้นคนรวยไปช่วยคนจน โดย ศ.ผาสุก โต้แย้งว่า มายาคติเหล่านี้เป็นเพียงการมองด้านเดียว การเพิ่มต้นทุนเป็นเรื่องปกติ แต่เหตุใดไม่ประเมินถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาด้วย โดยเฉพาะในแง่ทรัพยากรมนุษย์ที่ถือว่าได้กำไรมหาศาล อีกทั้งรัฐสวัสดิการไม่ใช้การปล้นแต่เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน

"ถ้าเราไม่ซื้อเรือดำน้ำ ถ้าเราไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ถ้าเราอุดช่องโหว่เรื่องการคอร์รัปชันหรือเราอุดช่วงโหว่เรื่องภาษี ธนาคารโลกคำนวณเอาไว้ ถ้าไทยอุดช่องโหว่เรื่องภาษีโดยไม่เปลี่ยนแปลงอัตราภาษีเลย เราจะได้ภาษีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 ของจีดีพี แล้วทำไมเราไม่ทำ" ศ. ผาสุก กล่าว


รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า.JPG

ซึ่งประเด็นการเก็บอัตราภาษีก้าวหน้าที่หลายฝ่ายออกมาบอกว่าเป็นการปล้นคนรวย เป็นการละเมิดสิทธิ์คนรวยนั้น นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw มองว่าเป็นการมองอย่างไม่ถูกหลักมากนัก

"อย่าไปสนใจการละเมิดสิทธิ์คนรวยมากกว่าการละเมิดสิทธิ์คนไม่มีจะกิน" นายจอน กล่าว


รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า.JPG

ในประเด็นมายาคตินั้น ผศ.ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ตามการสำรวจของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน คนไทย เป็นชาติที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลขงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศคลาดเคลื่อนมากที่สุดในโลก โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่างบประมาณที่ใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศสูงถึงร้อยละ 30 - 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ในขณะที่ตัวเลขความเป็นจริงอยู่ที่เพียงร้อยละ 3-4 ของ จีดีพี เท่านั้น จึงเป็นการตอบคำถามมายาคติที่ว่าต้นทุนของรัฐสวัสดิการแพงเกินไปว่าไม่เป็นความจริง 

การปฏิรูปภาษีและงบประมาณ

ประเด็นสุดท้ายที่มีการเสวนาคือ หากจะมีการเดินหน้าเรื่องรัฐสวัสดิการจริง และรัฐบาลจะไปหาเงินมารองรับจากไหน ดร. เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ เพราะขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้า สภาวะการจมตัวลงของชนชั้นกลางคล้ายกับสภาวะที่สหรัฐฯกำลังเผชิญ ซึ่งประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ (1) การศึกษาแพงขึ้น (2) สาธารณสุขแพงขึ้น (3) ที่อยู่อาศัยแพงขึ้น (4) ความไม่มั่นคงของอาชีพการงาน


รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า.JPG

ปัจจัยทั้ง 4 ข้อ ข้างต้น ส่งผลให้ชนชั้นกลางที่เคยอยู่แบบสุขสบายกำลังเหนื่อยในการหนีการตกชั้นไปอยู่ในประเภทคนรายได้น้อย จากการที่รัฐบาลไม่มาตรการหรือสวัสดิการมาอุดหนุนอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ รวมถึงการปฏิรูปงบประมาณของภาครัฐเพื่อไม่ให้เสียไปกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง