ไม่พบผลการค้นหา
ยอดขอส่งเสริมการลงทุนครึ่งแรกปี 2563 เพิ่มขึ้น 7% แต่มูลค่าลดลง 17% ญี่ปุ่นยังครองส่วนแบ่ง FDI เยอะที่สุด ตามมาด้วยจีนและสิงคโปร์

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดตัวเลขบริษัทต่างประเทศเข้าขอส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 754 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าเพียง 7% จากยอด 703 โครงการ ในครึ่งแรกของปี 2562

อย่างไรก็ตาม มูลค่าเม็ดเงินลงทุนรวมกลับปรับตัวลดลง 17% ลงมาอยู่ที่ 1.58 แสนล้านบาทเท่านั้น จากที่เคยทำได้ถึง 1.9 แสนล้านบาทในปีก่อนหน้า

ดวงใจ อัศวจินจิตร์-บีโอไอ
  • ดวงใจ อัศวจินตจิตร์

เลขาฯ บีโอไอ ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญของมูลค่าการลงทุนที่ลดลงมาจากผลกระทบของวิกฤตโรคระบาด โควิด-19 เป็นหลัก ประกอบกับในครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา ยังไม่มีโครงการลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงเหมือนที่ไทยได้อานิสงส์จากโครงการพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลในปีก่อนหน้า แต่ก็ยังนับว่าดีกว่าช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งนี้ ดวงใจ เผยว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมียอดการขอส่งเสริมฯ ทั้งสิ้น 371 โครงการ และคิดเป็นมูลค่า 8.31 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ของการส่งเสริมฯ ทั้งหมด จำนวนโครงการในอุตสาหกรรมการแพทย์มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญถึง 174% ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 123% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 6 เดือน มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 459 โครงการ เพิ่มขึ้น 5% มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 75,902 ล้านบาท ลดลง 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

BOI

โดยญี่ปุ่น เป็นประเทศมีจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 99 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอยู่ที่ 22,636 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ตามด้วยจีน จำนวน 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 17,461 ล้านบาท และสิงคโปร์ จำนวน 55 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 10,624 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตลอดครึ่งแรกของปีนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ที่ 4,844 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 43.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562