ไม่พบผลการค้นหา
อ่านเส้นทาง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ผู้นำรัฐประหาร ปี 2549 โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อ่านฉากชีวิตสำคัญในเหตุการณ์ระหว่างทาง 13 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 กับภาพอดีตผู้นำกองทัพต้นตำรับ 'ลับ ลวง พราง' สู่นักการเมืองอาชีพเต็มตัว แต่ประเทศไทยยังหนีไม่พ้นวังวนรัฐประหาร

"23.00 น. คืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 สถานีโทรทัศน์ทุกช่องประกาศว่า เนื่องด้วยขณะนี้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้ได้แล้ว และไม่ได้มีการขัดขวางเพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอความร่วมมือประชาชนในการให้ความร่วมมือและขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วย"

นสพ.มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 20 ก.ย. 2549 รายงานข่าวถึงเหตุการณ์สำคัญจุดเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยอีกครั้งในขณะที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้าสู่ปีที่ 74

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่มาจากมุสลิมคนแรกและอดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ขณะนั้น กระทำการยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 

พล.อ.สนธิ ได้มีสถานะเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อนแปรเปลี่ยนมาเป็น ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

ภายหลังการรัฐประหาร พล.อ.สนธิ ให้คำมั่นต่อนานาชาติและประชาชนว่าจะดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ พร้อมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเวลา 1 ปี

เงื่อนไขแห่งการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 มีหัวเชื้อมาจาการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 

กระทั่งลุกลามบานปลายมาสู่การเดินขบวนขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 นำไปสู่การยุบสภาฯ และบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้านซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน

บทบาทของผู้นำคณะรัฐประหาร นาม พล.อ.สนธิ ซึ่งมีสถานะเป็นประธาน คมช. ได้มีการแต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24

สนธิ คมช รัฐประหาร 2549 0.jpg

ระหว่างที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลภายใต้การนำของคณะรัฐประหาร ได้ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมให้มีการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2550 โดยมีผู้เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 57.81 ของผู้มาใช้สิทธิ จนนำไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2550

การสิ้นสุดลงของคณะรัฐประหาร ที่นำโดย พล.อ.สนธิ เกิดขึ้นภายหลังมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นผลผลิตที่ออกมาจากคณะรัฐประหาร คมช. ผ่านการจัดทำของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธาน

ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ทำให้การรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ถูกมองว่าเป็นการรัฐประหารเสียของ 

เพราะแม้ พล.อ.สนธิ และเครือข่ายกลุ่มพันธมิตรฯ จะโค่นล้มพรรคการเมืองภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปได้ ด้วยการยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือน พ.ค. 2550 ผ่านการทำลายให้สิ้นด้วยกลไกของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 111 กก.บห.ไทยรักไทย เป็นเวลา 5 ปี 

แต่ผลการเลือกตั้งปลายปี 2550 กลับทำให้พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแถวสองของพรรคไทยรักไทย ประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง

รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คาดไม่ถึงว่า พรรคพลังประชาชนจะสามารถ คว้า ส.ส.เข้าสู่สภาได้ถึง 233 ที่นั่ง จากทั้งหมด 480 ที่นั่ง หนุนส่งให้ นายสมัคร สุนทรเวช ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 

สมัคร สุนทรเวช g1420628.jpg

ปี 2552 เป็นปีที่ประเทศไทยได้รัฐบาลชุดใหม่ ที่สื่อมวลชนยกฉายาว่ารัฐบาลเทพประทาน จากการพลิกขั้วของพรรคร่วมรัฐบาลและการแยกตัวของ ส.ส.ในสังกัดของกลุ่ม เนวิน ชิดชอบ หันมาหนุนให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ครองเสียงอันดับสองในสภาฯ ก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 

ปี 2552 พล.อ.สนธิ เริ่มเข้าหาเครือข่ายนักการเมืองด้วยการลงเรียนหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 1 ของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) โดยหลักสูตรนี้เอง มีนักการเมือง ทั้ง นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ และเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ในขณะนั้น เป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตร

พล.อ.สนธิ ซึ่งถือเป็นผู้นำคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 หลังสะสมประสบการณ์ลงเรียนหลักสูตรเกี่ยวกับการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบหลักสูตร พตส. รุ่นที่ 1 ของสำนักงาน กกต.

ครั้งหนึ่ง พล.อ.สนธิ เคยให้สัมภาษณ์ผ่าน นสพ.มติชน ฉบับเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2552 เมื่ออดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร เข้าสู่การเป็นพลเรือนเต็มขั้นถอยลงจากหลังเสือมาได้ 1 ปี

"ที่บอกว่าทหารมายุ่งการเมือง เพราะสังคมถูกตีง่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เกิดกระแสความเป็นประชาธิปไตยมันเริ่มีชนวนในการกล่าวอ้างได้ ดังนั้นเราต้องศึกษา"

พล.อ.สนธิ ยังระบุว่า "ความจริงกองทัพเป็นของประชาชน เราต้องตั้งตัวเราเองก่อน ถ้าผมจะพูดเรื่องกองทัพกับประชาชนมาก เราต้องพยายามทำกองทัพให้เป็นที่พึ่งของประชาชน กองทัพไม่ใช่ของกลุ่มใดพรรคใด แต่กองทัพมีหน้าที่สนองนโยบายของรัฐบาล งานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง"

"เมื่อวิกฤตของบ้านเมือง เขาบอกให้กองทัพเข้าไปช่วย หน้าที่ของกองทัพต้องเข้าไปช่วย ดังนั้น เขาแบ่งกันชัดเจน บ้านเรายังแบ่งไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสน สถานะของรัฐบาลต้องรู้สถานะตัวเองที่มีต่อกองทัพ และกองทัพต้องรู้หน้าที่ตัวเองว่ามีหน้าที่ขนาดไหน แต่ต้องทำให้ประชาชนเชื่อถือและศรัทธาอย่าให้ขาดไม่ได้ ขณะที่บ้านเมืองแบ่งเป็นสีหลากหลาย กองทัพต้องยืนนิ่งๆ แล้วเป็นที่พึ่งทั้งแดง เหลือง น้ำเงิน ต้องทำให้ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นผิด"

เมื่อถามถึงการเมืองไทยมีภาพกองทัพเข้ามายุ่งการเมืองตลอด ทำให้สังคมยังหวั่นจะเกิดเหตุเช่นในอดีตอีก

พล.อ.สนธิ ตอบในช่วงปี 2552 ทันทีว่า "หมายถึงการปฏิวัติใช่ไหม ผมยืนยันเราเลยว่า ณ เวลานี้แตกต่างจากเมื่อเหตุการณ์ 19 ก.ย. 2549 เพราะตอนนั้นกลุ่มคนมีฝ่ายเดียว แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ดังนั้น เรื่องปฏิวัติไม่ต้องคิด ต่อให้หรือกล้าเพียงใด เพราะปัจจัยแตกต่างกันคนละฟ้ากับดิน ดังนั้น คิดว่าเรื่องที่จะมีข่าวว่าทหารปฏิวัติ มันเป็นกระแสอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจะทำลายกันมากกว่า"

18 พ.ย. 2552 พล.อ.สนธิ ขยับเป็นนักการเมืองเต็มตัว โดยรับตำแหน่งทางการเมืองในบทบาทหประธานพรรคมาตุภูมิ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยนักการเมืองกลุ่มวาดะห์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการก่อตั้งของ ‘มั่น พัธโนทัย’ และ ‘วัฒนา อัศวเหม’ จากการรื้อฟื้นพรรคราษฎร มาเป็นพรรคมาตุภูมิ

เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 พล.อ.สนธิ ก็รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ สามารถนำพรรคได้คะแนนเสียงทั่วประเทศ 251,674 คะแนน

ทำให้พล.อ.สนธิ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้งแรกในชีวิต

สนธิ บัง Hkg5055757.jpg

ปี 2554 ภายหลังการยุบสภาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 

อดีตประธาน คมช. เปลี่ยนจากผู้นำกองทัพ ผู้นำรัฐประหารโค่นล้มนักการเมืองจากการเลือกตั้ง เข้าสู่อาชีพนักการเมืองเต็มตัวลงสนามเลือกตั้งเดินสายหาเสียงกับประชาชนอย่างเต็มตัว

พร้อมทิ้งวาทะ สลัดคราบผู้นำรัฐประหารในอดีตด้วยประโยคที่ว่า "ระบอบประชาธิปไตยที่ผมเดินเข้ามาตามระบอบ คิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นดีเห็นงาม ผมเข้ามาสู่ประตูที่ถูกต้อง หากประชาชนเลือกก็เอา หากไม่เลือกก็เป็นวิถีทางประชาธิปไตย"

แม้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 พรรคมาตุภูมิได้ ส.ส.เพียง 2 ที่นั่งคือ พล.อ.สนธิ และ อนุมัติ ซูสาลอ ส.ส.ปัตตานี

และพรรคเพื่อไทยในการนำของแคนดิเดตนายกฯหญิง ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายกวาด ส.ส.ได้ถึง 204 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่งในสภาฯ และเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

ทว่าการวางตัวของ พล.อ.สนธิ ในสภาฯ แม้เขาจะไม่ได้ถูกเลือกให้เป็น 1 ในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำครองเสียงข้างมากในสภาฯ

แต่การวางตัวของ พล.อ.สนธิ และ ส.ส.อีก 1 คนของพรรคมาตุภูมิในสภาผู้แทนราษฎร เลือกที่จะวางบทบาทเป็นทางสายกลาง ไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายค้านอย่างเต็มตัว

แม้ว่าพรรคมาตุภูมิ จะต้องนั่งที่ประชุมสภาฯ ซีกพรรคฝ่ายค้านก็ตาม

16 พ.ย. 2554 พล.อ.สนธิ ลุกขึ้นอภิปรายกลางสภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้งแรกในฐานะ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ เพื่อเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด ลืมอดีต คิดแต่ปัจจุบัน สร้างอนาคตเพื่อความปรองดอง 

เหตุการณ์ครั้งนั้น ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย ถึงขั้นแสดงความชื่นชมอดีตผู้นำรัฐประหาร ซึ่งเคยเป็นศัตรูทางการเมืองคนสำคัญ

แต่ญัตติดังกล่าวต้องถูกฝ่ายค้านในสภาอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ โจมตีว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

"ผมไม่ได้เคยไปอยู่ทางฝ่ายไหนทั้งนั้น ถ้ารัฐบาลทำถูก เราก็เห็นด้วย ถ้าฝ่ายค้านทำถูกเราก็เห็นด้วย เราจะอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน" พล.อ.สนธิ ระบุไว้กับ "มติชน" เมื่อปี 2554 

พล.อ.สนธิ ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เจ้าของต้นตำรับ ลับ ลวง พราง รัฐประหารปี 2549 เปิดใจกับ นสพ.มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 พ.ย. 2555 เมื่อมีอายุ ส.ส.ในสภาได้ 1 ปี ถึงการนำประเด็นสถาบันมาเป็นเครื่องมือในการปฏิวัติ

"การปฏิวัติ ทหารจะทำหรือไม่ทำก็ต้องประเมินสถานการณ์ต่างๆ ไม่ใช่การหมิ่นเหม่ต่อการทำลายสถาบัน หรืออะไรพวกนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิด ก็เกิดระยะต่อเนื่องมา ทหารลงมาก็ไม่สามารถเข้าไปทำกระบวนการแบบนี้ได้ และการปฏิวัติเอง ทหารก็ต้องคิดหนัก วันเวลา มันเปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยนไป ฉะนั้นการจะทำอะไรสักอย่างก็ต้องคิดลึก คิดเยอะกว่าสมัยก่อน" 

รัฐสภา ประท้วง ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย สมศักดิ์ 00_Hkg7382696.jpg

การนำเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ของ พล.อ.สนธิ ทำให้เกิดการประท้วงวุ่นวายอย่างหนักในสภาฯ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2555 เพราะถูกฝ่ายค้านนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ พุ่งเป้าโจมตีอย่างหนักว่าเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยกับการเงิน และมีผลมุ่งหมายไปลบล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ

แม้ พล.อ.สนธิ จะยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ปรองดองเพื่อต้องการลดปัญหาความขัดแย้งไม่ใช่การลบล้างความผิด เพราะเห็นว่าปัญหาบ้านเมืองมีความขัดแย้งมาจากรัฐบาลหลายสมัยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

สุเทพ รวมพลังประชาชาติไทย กปปส 00_Hkg9637547.jpg

ปี 2556 กระแสการเมืองนอกสภากลับทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

ในช่วงปลายปี 2556 อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองนอกสภาภายใต้การนำของ 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' จากการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง

เป็นผลให้มติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2556 ต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองและร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมรวม 6 ฉบับออกจากระเบียบวาระการประชุมสภาฯทันที โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติ ถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดองและนิรโทษกรรม ออกจากสภาด้วยมติ เห็นด้วย 310 ไม่เห็นด้วย1 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 4 เสียง

ทั้งนี้ ตัวแทน ส.ส.ผู้เสนอร่างได้ให้เหตุผลไปในแนวทางเดียวกันคือ ต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข จึงขอถอนร่างทั้ง 6 ฉบับออกจากระเบียบวาระทันที

ด้าน พล.อ.สนธิ ระบุถึงการถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดองที่ได้ผลักดันเข้าสู่สภาว่า ยอมรับตามครรลองของสภา พร้อมย้ำว่าแม้ตนเคยได้กระทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความรุนแรง และหลายท่านว่าไม่ใช่สิ่งที่เป็นประชาธิปไตย แต่วันนี้ตนเองได้เดินทางตามวิธีทางของสภา และเมื่อมีปัญหาตนก็รับได้ว่าต้องทำเพื่อสังคมส่วนร่วม ดังนั้นตนเองและสมาชิกที่ได้ร่วมกันเสนอร่วมกันขอถอนญัตตินี้

ภายหลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 บทบาท พล.อ.สนธิ ในทางการเมืองเป็นไปอย่างเงียบๆ

พรรคมาตุภูมิ ซึ่งก่อตั้งโดยนายวัฒนา อัศวเหม และ พล.อ.ดร.สนธิ เป็นหัวหน้าพรรค ก็ถึงขั้นปิดฉากลงเมื่อปี 2561

พรรคมาตุภูมิถูกยุบเนื่องจากไร้ผู้สนับสนุนพรรคที่เข้มแข็ง และ พล.อ. ดร.สนธิ แก้ปัญหาโดยการนำสมาชิกพรรคที่เหลือเข้าร่วมพรรคชาติไทยพัฒนา โดยพรรคมาตุภูมิได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันอังคารที่ 16 ต.ค. 2561 ซึ่งที่ประชุมมีมติเลิกพรรคมาตุภูมิและได้ส่งเรื่องให้ กกต. พิจารณา

ซึ่งที่ประชุม กกต. ครั้งที่ 70/2561 (34) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2561 เห็นชอบให้ยุบเลิกพรรคมาตุภูมิ

อดีตหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เลือกที่เข้าสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ภายใต้การนำของลูกมังกรการเมือง 'กัญจนา - วราวุธ ศิลปอาชา'

สนธิ กัญจนา ประภัตร ชาติไทยพัฒนา 074bef975ee380b2f8b0_full.jpg

ศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 พล.อ.สนธิ ผู้นำรัฐประหารรุ่นพี่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเลือกที่จะเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตยแบบเปิดเผย ผ่านการเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาพรรค พร้อมกับลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 8 ของพรรค

แม้ พล.อ.สนธิ จะไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.เป็นสมัยที่ 2 

แต่บทบาทของอดีตผู้นำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็ได้ถูกบันทึกไว้อีกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

"ผมบอกแล้วไง การเกิด เกิดได้ เกิดแล้วจะเป็นยังไง ผมยังมีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ถ้ามีการปฏิวัติแล้วประเทศไทยจะเปลี่ยนครั้งใหญ่" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.คนที่ 35 อดีตประธาน คมช. และอดีต ส.ส.พรรคมาตุภูมิ เคยพยากรณ์ทิศทางการเมืองไทยหลังจากปี 2555 ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษของ มติชน : จาก ปว. 2549 ถึง 2555 'บิ๊กบัง' ถอดรหัส 'อำมาตย์' เตือน 'จุดเสี่ยง' ปลุก 'ปฏิวัติ' ฉบับวันที่ 27 พ.ย. 2555

ประยุทธ์-ประวิตร

ท้ายที่สุด ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นวงจรรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งเป็นผลผลิตของคณะรัฐประหารปี 2549 อีกเช่นเคยในอีก 2 ปีต่อมา

เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้กระทำการมาเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 

เป็นเวลาที่ล่วงเลยจาก 19 ก.ย. 2549 มาถึงปีที่ 13 ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองอีกครั้ง

แต่ครั้งนี้เปลี่ยนมาเป็นชื่อของผู้นำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ขึ้นสู่ทำเนียบฯนายกรัฐมนตรี 2 สมัยติดต่อกัน ท่ามกลางข้อครหาออกแบบรัฐธรรมนูญ สกัดกั้นพรรคเพื่อไทย ไม่ให้กลับมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

โดยมีโจทย์สำคัญคือ ต้องไม่ให้รัฐประหารปี 2557 เสียของซ้ำรอยเฉกเช่นต้นแบบรัฐประหารรุ่นพี่ปี 2549

ข่าวที่เกี่ยวข้อง