ไม่พบผลการค้นหา
นักเคลื่อนไหวในเมียนมาประณามแอปพลิเคชันให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งและผู้สมัครเลือกตั้ง ชี้แอปฯ นี้อาจให้ข้อมูลละเอียดอ่อนสร้างความตึงเครียดด้านเชื้อชาติและศาสนาได้

แอปพลิเคชัน mVoter 2020 แอปพลิเคชันที่ที่ถูกออกแบบมาให้ข้อมูลกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเมียนมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า มีแนวโน้มว่าจะจุดชนวนความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย.นี้

แอปฯ mVoter 2020 ถูกพัฒนาโดยองค์กรความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้งสากล (IDEA) ในสวีเดนร่วมกับมูลนิิเอเชียและคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมา (UEC) ภายใต้โครงการ STEP Democracy ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และเปิดให้ใช้เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา และมีคนใช้แอปฯ นี้มากถึง 22 ล้านคน จาก เกือบ 7 ล้านเมื่อปี 2558

แอปฯ นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากแอปฯ คล้ายกันสำหรับการเลือกตั้งเมื่อปี 2558 โดยมีการให้ข้อมูลผู้สมัครเลือกตั้ง พ.ย. 2563 ประมาณ 7,000 คน แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหว Justice for Myanmar ระบุว่า ข้อมูลชีวประวัติของผู้สมัครให้ข้อมูลทั้งเชื้อชาติและศาสนา รวมถึงข้อมูลของบิดามารดาผู้สมัครด้วย

Justice for Myanmar กล่าวว่า แอปฯ ได้ให้ข้อมูลผู้สมัครชาวโรฮิงญาคนหนึ่งว่าเป็น "เบงกาลี" คำที่รัฐบาลเมียนมาใช้เรียกชาวโรฮิงญา เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับว่ามีเชื้อชาติโรฮิงญาอยู่ในประเทศ และต้องการสื่อว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และยังมีการให้ข้อมูลบิดาและมารดาของผู้สมัครชาวโรฮิงญาว่า "เบงกาลี-พม่า"

Justice for Myanmar ระบุว่า นโยบายของรัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับตัวตนของ "โรฮิงญา" แม้พวกเขาจะอยู่ในเมียนมามาหลายรุ่นแล้ว ข้อมูลในแอปฯ นี้อาจมาจากคำศัพท์ทางการที่รัฐบาลเมียนมากำหนดว่า เมียนมามี "เชื้อชาติแห่งชาติ" ทั้งสิ้น 135 เชื้อชาติ โดยไม่นับชาวโรฮิงญา ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาเป็นคนไร้รัฐและถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวโรฮิงญา รวมถึงตัดสิทธิผู้สมัครชาวโรฮิงญา จากที่มีชาวโรฮิงญาสมัครลงเลือกตั้งแต่มีเพียง 6 คนเท่านั้น ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เนื่องจากมีการขอหลักฐานยืนยันตัวตนของบิดามารดาว่าเป็นพลเมืองเมียนมาในขณะที่พวกเขาเกิด

กลุ่มนักเคลื่อนไหวยังกล่าวว่า แทนที่แอปฯ นี้จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง mVoter 2020 กลับโหมไฟชาตินิยมด้านเชื้อชาติและศาสนาในการเลือกตั้งครั้งนี้ การเปิดเผยเชื้อชาติและศาสนาไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศที่ให้ทุน และไม่เป็นที่ยอมรับในเมียนมาเช่นกัน

หลังจากเกิดเหตุโจมตีตำรวจชายแดนในรัฐยะไข่เมื่อเดือน ต.ค. 2559 กองทัพเมียนมาได้โจมตีชาวโรฮิงญาด้วยการเผาหมู่บ้าน ยิงพลเรือน ข่มขืนผู้หญิง จนทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คนลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ และเกิดเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยรอบใหญ่ที่สุดในโลก


ที่มา : The Diplomat, Irrawaddy