ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ธปท.ย้ำ 'การคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ย' ทำไม่ได้ พร้อมชี้ 4 แนวทางการชำระดอกเบี้ยคงค้าง ที่ไม่สร้างภาระให้กับลูกหนี้ แนะหากยังมีรายได้เท่าเดิม ไม่ควรรับสิทธิพักชำระหนี้

จากกระแสความไม่มั่นใจเกี่ยวกับวิธีการคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่มีต่อลูกหนี้ระหว่างระยะเวลาพักหนี้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' สัมภาษณ์พิเศษ 'นวอร เดชสุวรรณ์' ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อตอบข้อสงสัยและชี้แจงถึงหลักการคิดดอกเบี้ยที่ถูกต้องก่อนได้รับคำตอบอย่างชัดเจนว่าการคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้

สัมภาษณ์เรื่องดอกเบี้ย ธปท
  • 'นวอร เดชสุวรรณ์' ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน (ธปท.)

ห้ามทำ-ผิดกฎหมาย

'นวอร' อธิบายว่า ตามหลักการแล้วดอกเบี้ยเกิดจากจำนวนเงินต้นคูณกับอัตราดอกเบี้ยตามที่ตกลงภายในสัญญาคูณกับระยะเวลาที่เป็นหนี้ ดังนั้น แม้สถาบันการเงินจะดำเนินนโยบายสอดรับกับมาตรการของ ธปท.ที่ต้องการเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนมีเงินอยู่ในมือท่ามกลางภาวะวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบันผ่านมาตรการการพักชำระหนี้ แต่ก็สถาบันการเงินก็ยังสามารถคิดดอกเบี้ยในระหว่างการพักหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม การคิดดอกเบี้ยนั้นต้องเป็นการคิดอ้างอิงจากเงินต้นคงเหลือ หรือไม่สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ที่ค้างจ่ายระหว่างการพักหนี้มารวมกับเงินต้นคงเหลือแล้วนำยอดนี้ไปคิดดอกเบี้ยใหม่ได้เพราะ "จะผิดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้ามคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ย"

เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ สมมติลูกหนี้มีหนี้ค้างอยู่ 100 บาท ตอนพักชำระหนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี หรือคิดเป็นจำนวนดอกเบี้ยเดือนละ 1 บาท ซึ่งการพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยกินเวลา 6 เดือน แปลว่าระหว่างช่วงพักหนี้ ลูกหนี้จะคงค้างดอกเบี้ยไปเอาไว้รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 6 บาท ที่จะต้องถูกคิดไว้ในบัญชีแยกต่างหากเพื่อรอวันที่ลูกหนี้จะกลับไปชำระ แต่ห้ามเจ้าหนี้นำเงิน 6 บาทดังกล่าว ไปรวมกับเงินต้น 100 บาท และนำไปคิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้เพิ่ม แบบนั้นทำไม่ได้


พักชำระหนี้แล้วจะจ่ายยังไง

ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ธปท.ย้ำว่า เมื่อครบเวลาพักชำระหนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น 3 เดือน หรือ 6 เดือน สถาบันการเงินไม่ควรกลับมาเรียกเก็บทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินก้อนทันทีในเดือนแรกที่ลูกหนี้จ่ายหนี้ต่อเพราะด้วยเหตุการณ์ในปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะจะเป็นภาระกับลูกหนี้มากเกินไป

"จะเอาเงินก้อนที่ค้างอยู่ในช่วง 6 เดือน มาเก็บเดือนที่ 7 คงเป็นไปไม่ได้" นวอร กล่าว
สินเชื่อ-หนี้สิน-หนี้

สิ่งที่ ธปท.แนะนำสถาบันการเงินคือการกระจายการเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่พักชำระหนี้แทน ซึ่งแบ่งได้ 4 แบบดังนี้

  • นำดอกเบี้ยที่พักชำระหนี้ไปหารเฉลี่ยตามจำนวนงวดที่เหลือของสัญญาได้ตั้งแต่เดือนแรกที่กลับมาชำระหนี้ตามปกติซึ่งจะทำให้ค่างวดต่อเดือนของลูกหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย
  • เริ่มเฉลี่ยเงินคงค้างในระยะที่ถัดออกไป อาทิ หากพักชำระหนี้ทั้งสิ้น 6 เดือน สถาบันการเงินไม่ต้องเริ่มเก็บตั้งแต่เดือนที่ 7 แต่อาจไปเริ่มเก็บในช่วงท้ายๆ หรือในงวดที่ตกลงกันว่าลูกหนี้จะมีสภาพคล่องดีขึ้น ในกรณีนี้ ค่างวดเดือนที่ 7 จะจ่ายเท่าเดิมแต่ค่างวดเดือนท้ายๆ จะจ่ายสูงขึ้น
  • ชำระยอดเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดในงวดสุดท้ายของสัญญากู้ยืมทีเดียวก็ได้ ซึ่งแบบนี้ค่างวดเดือนสุดท้ายจะสูงมาก
  • สถาบันการเงินก็สามาระขยายเวลาชำระหนี้เพิ่มออกไปอีกได้ เช่น หากสัญญาเดิมจะผ่อนหมดใน 10 ปี ก็ขยายเป็น 10 ปี 6 เดือน

'นวอร' อธิบายเพิ่มว่า เมื่อต้องพักชำระหนี้ไประยะเวลาหนึ่งประชาชนหลายคนอาจจะมองว่าหนี้สินของตนเองเพิ่มขึ้น แต่แท้จริงแล้วยอดเงินต้นยังคงเท่าเดิม เพียงแต่หากยอดเงินต้นคงค้างมีจำนวนสูงก็อาจเห็นภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ด้วยเหตุนี้ จึงแนะนำว่า ในกรณีที่ลูกหนี้รายใดยังมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะจ่ายหนี้ดังเดิมก็ไม่ควรรับสิทธิในการพักชำระหนี้เพราะสุดท้ายก็จะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาจำนวนนึงอยู่ดี

ท้ายที่สุด ผู้ช่วยผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาในช่วงนี้ก็เพื่อช่วยประคับประคองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาที่มีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงินให้ผ่อนคลายภาระลงไปบ้างช่วงหนึ่ง ขณะนี้ทุกฝ่ายต้องเรื่องปรับตัว ปรับธุรกิจ เพื่อให้สามารถเดินต่อไปได้ และ ธปท.หวังว่า “เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”