ไม่พบผลการค้นหา
จีดีพีโลกจะพุ่ง 5.3% ในปี 2573 ถ้ามีการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น 30% ส่งผลดีต่อ ศก.ประเทศยากจน ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ย้ำหุ่นยนต์จะทำลายงานของแรงงานทักษะต่ำแน่นอน และการหนีไปอุตสาหกรรมอื่นก็เสี่ยงไม่แพ้กัน

แม้เหล่าผู้เชี่ยวชาญจะออกมาโต้เถียงว่า มนุษย์ดูจะตื่นกลัวกับการมาถึงของเทคโนโลยีมากเกินไป โดยเฉพาะประเด็นหุ่นยนต์มาแย่งหน้าที่การงานซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีพของผู้คน 

ทว่ารายงานชิ้นล่าสุดจากนักเศรษฐศาสตร์สถาบันออกซฟอร์ดแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความกลัวมีมูลจากเรื่องจริง ทั้งยังดูเหมือนว่าจะมีปัญหาใหม่ในฝั่งแรงงานที่ต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำระหว่างระหว่างมนุษย์และมนุษย์อยู่ก่อนแล้ว 

หุ่นนต์-AFP
ยิ่งมีหุ่นยนต์ เศรษฐกิจยิ่งดี

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกติดตั้งหุ่นยนต์เพิ่มถึง 3 เท่า มียอดขึ้นมาแตะ 2.25 ล้านตัว ยิ่งเมื่อมองไปข้างหน้า ตัวเลขเหล่านั้นยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเดิม พร้อมความเป็นไปได้สูงที่จะแตะ 20 ล้านตัวภายในปี 2573 ในจำนวนนั้น 14 ล้านตัวจะติดตั้งอยู่ในประเทศจีน 

แม้ตัวเลขหุ่นยนต์มหาศาลอาจสร้างความกลัวให้แรงงานในภาคการผลิตทั่วโลก แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เอามาต่อกรกับการหายไปของตำแหน่งงานมนุษย์คือสิ่งที่เรียกว่า 'กำไรของหุ่นยนต์' (robotics dividend)

ข้อดีที่เศรษฐกิจจะได้จากการหันมาใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์มีทั้ง ต้นทุนการผลิตลดลง รายได้สุทธิมากขึ้นในภาคเอกชน เช่นเดียวกับรายได้ในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล ซึ่งกรณีหลังจะเป็นผลดีอย่างมากกับภูมิภาคที่รัฐบาลมีรายได้น้อยเนื่องจากเม็ดเงินดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาประเทศได้ 

ในเชิงรูปธรรม นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า หากทั่วโลกมีการลงทุนทุ่มเงินให้กับการติดตั้งหุ่นยนต์มากกว่ากรณีพื้นฐาน 30% จะส่งผลให้จีดีพีโลกปรับตัวสูงขึ้น 5.3% ในปี 2573 คิดเป็นเม็ดเงินมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 153 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าเศรษฐกิจเยอรมนีทั้งประเทศ เพิ่มเข้าไปในระบบ


ความเหลื่อมล้ำ: มนุษย์ VS หุ่นยนต์
หุ่นนต์-AFP

จริงอยู่ที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจข้างต้นเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ ทั้งยังเหมือนเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาหรือในภูมิภาคที่ประชากรยังมีรายได้น้อย

ในทางกลับกัน ประชาชนในภูมิภาคเหล่านี้กลับกลายเป็นเหยื่อสำคัญของความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานมนุษย์และหุ่นยนต์ 

ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ว่า ศักยภาพของหุ่นยนต์ 1 ตัว สามารถแทนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตเฉลี่ย 1.6 คน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวกลับรุนแรงขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือหุ่นยนต์ 1 ตัว สามารถแทนแรงงานได้มากถึง 2.2 คน ขณะที่ ในภูมิภาคที่มีรายได้สูง หุ่นยนต์ 1 ตัว จะแทนแรงงานได้ 1.3 คน

โรงงาน - จีน - AFP

แรงงานที่มีรายได้ต่ำในปัจจุบันสุ่มเสี่ยงต่อการเสียงานมากกว่าแรงงานที่มีรายได้สูง ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานที่มีอยู่ก่อนแล้ว

รายงานเสริมว่า ที่ผ่านมา แรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคที่มีรายได้ต่ำ มักจะเป็นแรงงานที่มีทักษะต่ำด้วย จึงยิ่งอ่อนไหวต่อการมาถึงของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ตอบโจทย์ต่อภาคการผลิตมากกว่า เนื่องจากกลยุทธ์หลักที่ใช้ดึงดูดใจนักลงทุนสมัยก่อนไม่สามารถใช้ได้แล้วเพราะต้นทุนแรงงานมนุษย์ต่อให้เป็นงานที่มีทักษะต่ำและค่าแรงต่ำแค่ไหนก็ยังสูงกว่าการติดตั้งหุ่นยนต์อยู่ดี 

ผลกระทบดังกล่าวยังไม่ได้เกิดแค่ในระดับนานาชาติเทียบประเทศร่ำรายกับประเทศยากจนเท่านั้น แต่ยังลงลึกไปถึงพื้นที่ต่างๆ ในประเทศเดียวกัน หรือหมายความว่า พื้นที่ที่ประชากรมีรายได้สูงจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าพื้นที่ที่ประชากรมีรายได้ต่ำและพึ่งพิงแต่อุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่มีในสังคมให้มากขึ้นไปอีก 


ไม่มีทางหนี...ได้เลย

ซ้ำร้าย การศึกษาตัวอย่างแรงงาน 35,000 ราย ในสหรัฐฯ ยังพบว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แรงงานจำนวนดังกล่าวที่ต้องการออกมาจากอุตสากรรมการผลิตเพื่อหาทางรอดให้อาชีพตนเองในระยะยาว ย้ายเข้าไปสู่ 3 อุตสากรรมสำคัญได้แก่ การขนส่ง, การก่อสร้างและการซ่อมบำรุง และงานธุรการทั่วไป ซึ่งล้วนเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการถูกหุ่นยนต์มาแทนที่ทั้งหมดภายใน 10 ปีต่อจากนี้ 

เท่านั้นยังไม่พอ กรณีที่แรงงานคิดจะผันตัวเองเข้าไปสู่อุตสาหกรรมบริการ ก็ต้องเผชิญหน้าความจริงที่ไม่สวยงามอีกครั้งว่า ความเชื่อที่หุ่นยนต์ไม่สามารถข้ามมาให้บริการมนุษย์ได้เป็นเรื่องไม่จริง เพราะตัวเลขแสดงการคืบคลานเข้ามาของหุ่นยนต์อย่างชัดเจน 

อุตสาหกรรมสุขภาพกลายเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหลายประเทศจากภาวะสังคมผู้สูงวัย ทว่าตำแหน่งงานอาจไม่ได้มีรองรับมากขนาดนั้น ข้อมูลจากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) ชี้ว่า ยอดขายหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นถึง 49% ในปี 2561 เมื่อเทียบกับปี 2560 คิดเป็นการสั่งซื้อหุ่นยนต์ทั้งสิ้น 4,400 ตัว ด้วยมูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท หุ่นนต์-AFP

IFR ยังคาดว่าตัวเลขยอดขายหุ่นยนต์แพทย์ระหว่างปี 2562-2564 จะพุ่งสูงกว่า 22,000 ตัว หรือคิดเป็นการเติบโตแบบก้าวหน้าในสัดส่วนปีละ 27% 

สตีฟ เคาซินส์ ซีอีโอบริษัทท Savioke ซึ่งเป็นผู้คิดค้นระบบขนส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์โดยปราศจากมนุษย์ชี้ว่า "คุณไม่ต้องการให้พยาบาลทำงานที่ไม่ใช่หน้าที่พยาบาล...ทำไมพยาบาลต้องเดินข้ามตึกเพื่อมาเอาผลเลือดจากห้องปฏิบัติการด้วยในเมื่อหุ่นยนต์สามารถทำแทนได้" 

ด้านวงการค้าปลีกมีการปรับใช้หุ่นยนต์มาสักระยะแล้วโดยเฉพาะกับบริษัท อาทิ แอมะซอน ที่นำหุ่นยนต์เข้าไปติดตั้งในโกดังสินค้าเพื่อทำงานที่สร้างภาระต่อร่างกายเยอะเกินไปแทนมนุษย์ รวมไปถึงฝั่งตำแหน่งงานในร้านค้าปลีกเช่น พนักงานขาย หรือพนักงานเก็บเงิน 

เว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของโลกเริ่มติดตั้งหุ่นยนต์ในโกดังเก็บสินค้าในปี 2557 โดยเป็นการพัฒนามาจาก Kiva System ที่แอมะซอนเข้าซื้อบริษัทเมื่อ 7 ปีก่อนหน้า ในมูลค่า 775 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ก่อนจะเปลี่ยนชื่อให้เป็น Amazon Robotics ภายหลัง ปัจจุบันแอมะซอนมีหุ่นยนต์ติดตั้งมากกว่า 100,000 ตัว ในโกดังต่างๆ ทั่วโลก 

แม้แต่ในวงการโรงแรมและการต้อนรับ ตัวเลขการปรับใช้หุ่นยนต์ก็ยังเพิ่มสูงขึ้นจนต้องจับตามอง IFR ชี้ว่า ปี 2561 มียอดการขายหุ่นยนต์ให้ข้อมูลสูงถึง 15,780 ตัว และคาดว่าจะเติบโตขึ้นไปเป็น 93,350 ตัว ภายในปี 2564 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 83% 

การแทรกซึมของหุ่นยนต์ ยังพบเห็นในวงการการขนส่งสินค้า ที่ไล่ไปตั้งแต่ความพยายามสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ในการสั่งงานรถยนต์ไร้คนขับหรือแม้แต่การส่งของด้วยหุ่นยนต์ในระยะไม่ไกลมาก หุ่นนต์-AFP

แม้ปัจจุบันคนงานขับรถอาจยังไม่ถูกเอไอมาแทนที่ แต่ในอนาคตเพียง 5 ปี ต่อจากนี้ ศูนย์หาทางออกทางนโยบายโลกชี้ว่า มากกว่า 4 ล้านตำแหน่งงานจะหายไป โดยเฉพาะในฝั่งคนขับรถส่งของ พนักงานขับรถบรรทุก รวมไปถึงพนักงานขับรถขนส่งสาธารณะต่างๆ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการเกษตรโดยเฉพาะกับงานใช้แรงสูง 

ทีมนักวิจัยย้ำว่่าแม้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ยังต้องพัฒนาอีกมากเพื่อตอบโจทย์ในภาคการบริการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของหุ่นยนต์ให้ขึ้นมาเทียบเคียงตนเองได้เช่นเดียวกัน 


หนีไม่ได้ จะทำยังไง

ในกรณีของภาคธุรกิจ การเปิดใจยอมรับการมาถึงของเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญมากพอๆ กับการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการผลิต อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงผลกระทบในช่วงการเปลี่ยนผ่านและชีวิตคนงานที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป 

ขณะที่แรงงานก็ต้องรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังจะเข้ามากระทบหน้าที่การงานของชีวิต นักวิจัยชี้ว่า แรงงานจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองเสมอ 

"เรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะไม่มีงานไหนอยู่ตลอดไป" ทีมนักวิจัยกล่าว

ท้ายที่สุดฝั่งรัฐบาลจำเป็นต้องมีผู้กำหนดนโยบายที่เล็งเห็นถึงปัญหาเฉพาะของพื้นที่ตนเอง และเข้าไปพัฒนาทั้งภาพใหญ่ สร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ประชาชนสามารถพัฒนาความรู้ตนเองได้ ไปจนถึงการสร้างแผนที่ทักษะเพื่อให้ทราบว่าประชากรมีทักษะแบบใดและต้องปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมทักษะใหม่ไหนเข้าไปเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน 

รัฐบาลยังต้องระบุกลุ่มแรงงานที่จะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีและมีนโยบายรองรับที่ครบทุกมิติ ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาไปจนถึงการพัฒนาระบบสวัสดิการทางสังคม เช่น ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า (UBI) 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมนุษย์ก็ไม่อาจหลบเลี่ยงจากนวัตกรรมที่ตนเองสร้างขึ้นมาได้ แม้จะเต็มไปด้วยข้อดี แต่การเปลี่ยนผ่านก็นำมาซึ่งผลเสียไม่น้อยเช่นเดียวกันหากทุกภาคส่วนไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือที่ดี