ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประมง 22 จังหวัดสะท้อนความพยายามตอบโจทย์ใบเหลือง IUU ส่งผลกระทบประมงขาดแรงงานจำนวนมาก เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล 1 สิงหาคมนี้ รอคำตอบ 7 วัน หากเพิกเฉยจะถวายฎีกา

ที่ห้องประชุมสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม และผู้บริหารภาคประมงในสมุทรสงครามร่วมประชุมสมาชิก 4 องค์กร คือ สมาคมการประมงสมุทรสงคราม, สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม,สหกรณ์ประมงแม่กลอง และสหกรณ์ประมงบางจะเกร็งบางแก้ว ประชุมภาคประมงในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากภาครัฐ และอียู โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงทั่วประเทศ กว่า 40,000 คน ที่ยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงานให้แก้ปัญหาแต่ก็ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน, ปัญหากฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ปัญหากฎหมายของกรมเจ้าท่า, ปัญหากฎหมายของกรมประมง, ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO, ปัญหา VMS และ ปัญหากระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เป็นต้น

ซึ่งที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันถึงความเดือดร้อนกว่า 3 ปี ที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง ระเบียบวิธีปฏิบัติของชาวประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU ภายหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ ใบเหลืองไทยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 แม้ภาคประมงจะหารือถึงแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาน้อยมาก ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้นายกสมาคมประมงทุกสมาคมในจังหวัดสมุทรสงครามเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องความเดือดร้อนต่อรัฐบาลรวม 8 ประเด็นที่ทำเนียบรัฐบาลแก้ปัญหาในวันพุธที่ 1 สิงหาคมนี้ เวลา 10 นาฬิกา ส่วนในวันเดียวกันชาวประมงในพื้นที่จะยื่นหนังสือเรียกร้องปัญหาความเดือดร้อนที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมกับ 22 จังหวัดชายทะเล อย่างไรก็ตามหากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ชาวประมงทั่วประเทศจะพร้อมใจกันหยุดเรือออกหาปลาอย่างน้อย 7 วัน และหากยังไม่แก้ปัญหาอีกชาวประมงจะเดินทางไปยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป

นายมงคลกล่าวว่า การแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาล 3 ปีที่ผ่านมาชาวประมงเดือดร้อนหนักมากขึ้นทุกวัน ชาวประมงจำนวนมากต้องเลิกอาชีพการทำประมง โดยในอดีตมีเรือประมงพาณิชย์ขนาด 10 ตันกรอสส์ขึ้นไป กว่า 20,000 ลำ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10,600 ลำ และก็ยังไม่สามารถออกเรือทำประมงอีกกว่า 2,000 ลำ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน แม้เดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมาอธิบดีกรมประมงจะใช้อำนาจตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ขึ้นทะเบียนแรงงานประมงต่างด้าวได้ประมาณ 13,000 ราย นอกเหนือจากการจับคู่ระหว่างนายจ้างเจ้าของเรือประมงกับลูกจ้างต่างด้าวได้ 30,000 คนก่อนหน้านั้น แต่ก็ไม่เพียงพอ ล่าสุดยังขาดแคลนแรงงานประมงอีก 40,000 คน จึงเสนอให้อธิบดีกรมประมงใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าว ขึ้นทะเบียนแรงงานประมง เพื่อนำแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมาเป็นแรงงานประมงโดยเฉพาะอีกครั้ง