ไม่พบผลการค้นหา
ปี 2563 ถือเป็นปีชงของนายกรัฐมนตรี  เมื่อนักข่าวถามไถ่ว่า จะแก้ชงอย่างไร นายกฯ ก็ตอบว่า “ทำความดีไง ถ้าทำความไม่ดีก็แก้อะไรไม่ได้”

ทว่าปีชงในความหมายนี้ คงไม่ใช่แค่เรื่องโชคชะตาราศี หากแต่เป็นเพราะผลงานของนายกฯ ไม่เข้าตาประชาชน

นายกฯ เดินออกจากปี 2562 ด้วยการโดนประชาชนพยักหน้ายืนยันว่า “เบื่อนายก รัฐมนตรี” ที่หมอชิต หนักกว่านั้น คือยอดจำนวนนัก “วิ่งไล่ลุง” ที่เปิดรับสมัครกี่รอบก็เต็มทุกรอบ!!

นายกฯ ก้าวสู่ปี 2563 ด้วยการโดนฝ่ายค้านเดินเกมส์อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ

เหมือนที่ “เฉลิม อยู่บำรุง” ประธานคณะทำงานด้านกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ได้โหมโรงอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยการโพสต์ข้อมูลเบื้องลึกถึงการที่นายกฯ ขายที่ดินให้กับบริษัทในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยพบว่าจดทะเบียนก่อนซื้อที่ดิน เพียง 7 วัน ณ วันซื้อขาย และมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท และเป็นการซื้อขายที่เกินกว่าราคาประมูลหลายเท่าตัว

“หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ.. คนจะชิงชังรัฐบาลชุดนี้ .. ชิงชังนะ ไม่ใช่ชังชาติ” เฉลิมประกาศกร้าวไว้

จะอ่านเกมส์ของฝ่ายค้าน ว่าเป็นการคุ้ยข้อมูลแล้วข่มให้กลัวก็ได้ หรืออาจเป็นราคาคุยก็ได้ ทว่าต้นกุมภาฯ​ การลุกอภิปรายในสภาฯ จะเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญ ว่าจะแก้ต่างฉายาผู้นำฝ่ายค้าน “สมพงษ์-ขนมจีนไร้น้ำยา” ได้หรือไม่

เมื่อนักข่าว ถามนายกฯ ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น ก็ได้คำตอบว่า

“รัฐบาลนี้ 5 เดือน นะจำไว้ รัฐบาลที่แล้วก็รัฐบาลที่แล้วสิ รัฐบาลนี้ 5 เดือน ฉะนั้น การอภิปรายครั้งนี้เป็นการอภิปรายนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ใน ครม.ชุดนี้ อย่าเอามาพันกันไปหมด มันจะเสียหายไปหมด ซึ่งจะทำให้สิ่งที่ทำไว้เสียไปด้วย ที่ทำดีๆไว้ก็เสียหายหมดเพราะไม่เข้าใจกัน แล้วจะทำงานกันอย่างไรต่อไป" 

ไม่ว่าจะ 5 เดือน หรือ ไม่ว่าจะ 5 ปี อารมณ์-ความเห็น-ความรู้สึกของประชาชนล้วนไม่เป็นผลดีต่อ นายกฯ​ และรัฐบาล

เฉพาะ 5 เดือนนี้ “กระแสเบื่อลุง”​ไหลเวียนทั่วทั้งสังคมไทย

“นิด้าโพล” ถามความคิดเห็นของประชาชนต่อ 6 เดือนของรัฐบาลประยุทธ์ ก็พบว่า 

“ร้อยละ 33.72 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ดีเลย เพราะ การบริหารงานประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่คืบหน้า แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ บริหารประเทศไม่ดีทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ได้ใส่ใจประชาชนเท่าที่ควร ยังไม่โปร่งใสพอ ไม่มีความเป็นธรรม และช่วยเหลือแต่พวกของตัวเอง” 

สอดรับกับ "สวนดุสิตโพล" ที่ประชาชนบอกว่า เหตุการณ์ในประเทศไทยที่เศร้าเป็นลำดับที่หนึ่ง คือ “เศรษฐกิจไม่ดี สินค้าแพง” ร้อยละ 54.40 และความหวังในปีหน้า 2563 เป็นลำดับที่หนึ่งคือ “เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนอยู่ดีกินดี” ร้อยละ 81.59    

สอดรับกับ “ซูเปอร์โพล” ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า แนวโน้มของกลุ่มพลังเงียบลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงหลังเลือกตั้งที่เคยอยู่สูงถึงร้อยละ 56.1 ในเดือนเมษายน 2562 ค่อยๆ ลดลง และตกฮวบลงมาอยู่ที่ร้อยละ 29.4 ในการสำรวจล่าสุดต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ชี้ว่า “เหตุผลที่ประชาชนไม่สนับสนุนรัฐบาล คือ เบื่อรัฐบาล ไม่รู้ว่ารัฐบาลทำอะไร ไม่เห็นทำอะไรเลย รู้แต่ข่าวว่ารัฐบาลแย่ แก้เศรษฐกิจล้มเหลว เห็นแก่พวกพ้อง กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม แย่งตำแหน่ง แย่งอำนาจ สืบทอดอำนาจ และประชาชนจำนวนมากมองด้วยว่ามาตรการรัฐบาลไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรมาก ไม่ยั่งยืน แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ วิตกกังวลต่อการเลิกกิจการ รัฐเข้มงวดมาตรการภาษีต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม และการไม่สนับสนุน ธุรกิจ SME จริงจัง กฎระเบียบของรัฐทำให้ประชาชนทำมาหากินขัดสน”

และเมื่อย้อนดูผลงานตลอด 5 ปี นับแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ก็จะพบว่า มีกระแสเบื่อลุงฟูมฟักอยู่โดยตลอด

เหมือนที่ “ซูเปอร์โพล” เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า “ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 ระบุผลงานรอบ 5 ปีของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จับต้องได้ เช่น การก่อสร้างด้านคมนาคม อาทิ สถานีรถไฟฟ้าต่าง ๆ มอเตอร์เวย์ ทางต่างระดับปากช่องโคราช การต่อเติมสนามบิน เป็นต้น เป็นสิ่งที่จับต้องได้แตกต่างจากรัฐบาลอื่น ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ระบุไม่มีผลงาน ไม่แตกต่าง”

ทว่า “ผลสำรวจยังระบุว่า ผลงานรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ประชาชนต้องการให้เร่งสร้างมากที่สุด พบว่า อันดับแรกสูงสุดหรือร้อยละ 75.9 ระบุ แก้ปัญหาค่าครองชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้”

ไม่ว่าจะ 5 เดือน หรือไม่ว่าจะ 5 ปี จึงมีความต่อเนื่องอยู่หลายประการ

หนึ่งคือ ประชาชนรู้สึกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงถึงปัญหาปากท้อง พวกเขามองว่า รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจได้ล้มเหลว

หนึ่งคือ ในความต่อเนื่องนับแต่ปี 2557 จนถึงเวลานี้ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน

นายกรัฐมนตรีก็หน้าเดิม

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็คนเดิม

รองนายกฯ ที่คุมเศรษฐกิจก็ชื่อเดิม

ลูกทีมของรองนายกฯ ที่คุมเศรษฐกิจก็คือทีมสี่กุมารชุดเดิม

ที่เพิ่มเติม ก็คือบรรดารองนายกฯ และรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลในกระทรวงที่เกี่ยวเนื่องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนยิ่งทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องท้าทาย-ยากยิ่งขึ้น

เพราะรัฐมนตรีหลายคนทำงานแบบรัฐอิสระ-สนใจแต่การผลักดันวาระ/นโยบายของตัวเอง-ทำให้การผลักดันเป้าหมายร่วม/นโยบายที่มีทิศทางเดียวกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นไปได้ยาก

หนึ่งคือ ไม่มีนโยบายตื่นตาตื่นใจที่จะแก้ไขปัญหาปากท้องให้พี่น้องประชาชนได้จริง โดยเฉพาะพี่น้องรากหญ้า ทิศทางข่าวบอกเล่าแต่นโยบายประชารัฐ ประเภท “บัตรคนจน” ที่ดูจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าสัวไม่กี่ราย มากกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

จนกระทั่งในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อ 20 พ.ย. 2562 โฆษกรัฐบาลถึงกับแถลงว่า “นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ย้ำว่าที่ประชุม ครม.หารือกันว่าควรให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจรากหญ้า และเศรษฐกิจกลุ่มเกษตรกรต่างๆ รวมถึงแรงงานตกงานว่าจะมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร เพราะการแก้ไขปัญหามีหลายมิติ และต้องหารือร่วมกันจึงสั่งให้มีการปรับปรุงการทำงานของ ครม.เศรษฐกิจ เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ เนื่องจากเศรษฐกิจต้องเดินหน้าไปด้วยกัน”

คำบัญชาของนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ จึงชวนคิดว่า ก่อนหน้านั้น ครม.เศรษฐกิจ ทำงานกันอย่างไร-ออกแบบนโยบายเพื่อดูแลคนกลุ่มใด-จัดวางปัญหาของเศรษฐกิจฐานราก/รากหญ้า ไว้อย่างไร ?

ปิดท้ายด้วยคำตอบของนายกฯ คนเดิม-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนเดิม กับเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ถึงเรื่องเศรษฐกิจไทย

“เรื่องเศรษฐกิจไทย สามารถประเมินกันได้ว่าจะมากหรือจะน้อยก็ว่าไปตามสถานการณ์ ทั้งภายในและภายนอก แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องช่วยกันว่าจะแก้ปัญหายังไง ตนอยากจะฟังจากหลายๆ คน มากกว่าจะมาบอกกันว่าไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ แต่ไม่ได้บอกว่าจะแก้ยังไง แล้วก็โยนกลับมาว่ารัฐบาลแก้ไม่ได้ ไม่สำเร็จแสดงว่า รัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ก็ลองเสนอมาสิ ถ้าดีตนก็จะทำให้”

ไม่ว่าจะ 5 เดือน หรือไม่ว่าจะ 5 ปี จึงมีความต่อเนื่องอยู่หลายประการ และนายกฯ หน้าเดิม ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้


วยาส
24Article
0Video
63Blog