ไม่พบผลการค้นหา
‘บิ๊กแอ้ด’ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี อีกนายทหาร ‘ลูกป๋า’ ที่ ตามรอยป๋า ‘ป๋าเปรม’ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ และ ‘ป๋าเปรม’ แม้จะเป็นนายทหารต่างเหล่าก็ตาม โดย ‘ป๋าเปรม’ มาจากสายทหารม้า ส่วน พล.อ.สุรยุทธ์ เติบโตมาจากสายรบพิเศษ แต่ทั้งคู่เคยเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ก่อนขึ้นเป็น ผบ.ทบ. และเป็นอดีต นายกฯ ที่ได้รับการเชิญเช่นกัน

แต่กรณีของ พล.อ.สุรยุทธ์ ถือเป็นเรื่องที่ฮือฮาในยุคนั้นในการขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เพราะมาจากตำแหน่ง ‘ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ.’ ไม่ได้มาจากตำแหน่งใน ‘5 เสือ ทบ.’ ช่วงปี 2541 เพราะในขณะนั้นมีแรงหนุน ‘บิ๊กเภา’พล.อ.สำเภา ชูศรี ผบ.หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. จากนายทหาร จปร. 5 นำโดย ‘บิ๊กสุ’ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท เป็นทหารเหล่าปืนใหญ่ด้วยกัน

แต่ พล.อ.สำเภา เรียนจบจาก ร.ร.นายร้อยแซงซีร์ จึงทำให้ถูกโยกไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด แทน เพราะโดยประเพณีของ ทบ. ที่ผ่านมา ผบ.ทบ. ล้วนจบจาก ร.ร.นายร้อย จปร. ซึ่งทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ และ พล.อ.สำเภา เป็นเพื่อน ตท.1 ด้วยกัน

ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. อยู่ในตำแหน่งยาว 4 ปี ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ก่อนถูกโยกไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด 1 ปี ก่อนเกษียณฯ ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในสภาวะความระหวาดระแวงกันของขั้ว ‘ทักษิณ’ กับ ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ ในยุคนั้น

อีกสิ่งที่ถูกพูดถึงคืออดีตที่ค้างคาใจกับ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผ่านเหตุการณ์ที่คุนหมิง โดยขณะนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. โดยช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ เดินทางไปราชการที่ประเทศจีน ได้ไปพบคณะของ พล.อ.ประวิตร กับเพื่อน ตท.6 ไปตีกอล์ฟที่จีน ก่อนจะตรวจสอบพบว่าไม่มีการลาราชการไป

โดยในครั้งนั้นมี ‘บิ๊กกี่’ พล.อ.นพดล อินทปัญญา ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ. ร่วมเดินทางไปด้วย ต่อมาในการจัดโผโยกย้ายนายพล ทำให้ พล.อ.นพดล ถูกโยกเข้ากรุ ทบ. เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. แทน

ส่วน พล.อ.ประวิตร ถูกเด้งเข้ากรุยาว เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. และ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ ก่อนจะกลับเข้าไลน์หลักอีกครั้งเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 ช่วง พล.อ.สุรยุทธ์ ถูกโยกไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด แทน

จากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี ก่อนมาเป็น นายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่นำโดย ‘บิ๊กบัง’ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ขณะเป็น ผบ.ทบ. ดำรงตำแหน่งเป็น หัวหน้า คมช.

เชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 โดยรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘รัฐบาลขิงแก่’

สุรยุทธ์ เปรม ประธานองคมนตรี DE3-9E27-ED961CDA6DD1.jpeg

ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นบุตรชาย พ.ท.พโยม จุลานนท์ บุตรของพันเอกพระยาวิเศษสิงหนาถ (ยิ่ง จุลานนท์) ต้นตระกูลจุลานนท์ โดย พ.ท.พโยม เคยเป็นแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในนาม ‘สหายคำตัน’

ส่วนมารดาของ พล.อ.สุรยุทธ์ คือ ‘อัมโภช จุลานนท์’ บุตรสาว พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) จึงมีศักดิ์เป็น ‘คุณตา’ ของ พล.อ.สุรยุทธ์ ด้วย โดยชื่อ พระยาศรีสิทธิสงคราม กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหลัง ทบ. ได้ตั้งเป็นชื่อห้องที่ บก.ทบ. นั่นเอง

โดย พระยาศรีสิทธิสงคราม มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์กบฏบวรเดชเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2476 ถือเป็นกบฏแรกหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 หลังฝ่ายคณะราษฎร นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังมาปราบ ‘คณะกู้บ้านเมือง’ ที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และ พระยาศรีสิทธิสงครามพ่ายแพ้ จนเป็นที่มาของ ‘กบฎบวรเดช’ นั่นเอง

นอกจากนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ เคยผ่านหลักสูตรชั้นนายพันเหล่าราบ ฟอร์ตเบนนิ่ง รัฐจอร์เจีย สหรัฐฯ และ หลักสูตรเสนาธิการทหารบก สหรัฐฯ จึงทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ทราบถึงแนวคิดและหลักนิยมทางทหารของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ โดยช่วงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ก็ทราบดีถึงบทเรียนของกองทัพในอดีต ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่นำโดย รสช.

ในช่วงปี 2535 พล.อ.สุรยุทธ์ ยังเป็นนายทหารในรั้วรบพิเศษ ช่วงรอยต่อในตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 และ ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

โดย พล.อ.สุรยุทธ์ ได้พยายามเน้นถึงการนำทหารออกจากการเมืองให้ได้ แต่สุดท้ายแล้วก็เกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ รุ่นน้องสายรบพิเศษ และ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็รับตำแหน่งนายกฯ หลังการรัฐประหาร ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ตกเป็นเป้าทางการเมืองตามมา หนึ่งในนั้นคือปม ‘เขายายเที่ยง’ ที่เป็นชนักติดหลัง พล.อ.สุรยุทธ์ มาถึงปัจจุบัน

สำหรับ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘ลูกป๋า’ แม้ไม่ใช่ ‘สายทหารม้า’ แต่มาทำงานใกล้ชิด ‘ป๋าเปรม’ ตั้งแต่ปี 2521 สมัย ‘ป๋าเปรม’ เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็น ผู้บังคับกองพันของ กรมทหารราบที่ 23 ที่โคราช

และ ‘ป๋าเปรม’ ได้ขอตัวให้มาช่วยเป็นฝ่ายเสนาธิการ ที่ กรุงเทพฯ ต่อจากนั้นช่วง ‘ป๋าเปรม’ เป็น นายกฯ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้มาประจำที่ สำนักนายกฯ เพื่อช่วยงาน และได้ร่วมงานกันอีกครั้งในตำแหน่ง ‘องคมนตรี’ หลัง พล.อ.สุรยุทธ์ เกษียณฯจากตำแหน่ง ผบ.ทหารสูงสุด ได้ไม่นาน

เปรม สุรยุทธ์ -5142-4C8D-86B1-0AEE698BB885.jpeg

แม้ ‘ป๋าเปรม’ จะถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว แต่ก็มี พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นผู้สานงานต่อ ทำให้มนต์ขลังสายสี่เสาฯยังไม่เสื่อมคลาย โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ได้นำ รองนายกฯ ไปอวยพร พล.อ.สุรยุทธ์ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2563 ที่มูลนิธิรัฐบุรุษพล.อ.เปรมฯ

โดย นายกฯ เปิดเผยว่า “ท่านก็ให้พร ฝากกันไปฝากกันมา ฝากบ้านฝากเมือง และให้ทำงานกันต่อไป”

ส่วน พล.อ.ประวิตร เปิดเผยว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ให้กำลังใจ

แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ขั้วสายสี่เสาฯ และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อไป แม้แต่กับ พล.อ.ประวิตร ที่เคยมมีเรื่องในอดีตกันมาก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมา ‘ป๋าเปรม’ ก็แสดงออกอย่างชัดเจนในการเป็น ‘กองหนุน’ ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งการออกมาให้กำลังใจและสะกิดเตือนในบางครั้ง

ส่วนวัฒนธรรมการเปิดบ้านของ พล.อ.สุรยุทธ์ นั้น ว่ากันว่าจะไม่มีการเปิดบ้านเหมือนกับ ‘ป๋าเปรม’ ด้วยบุคลิกส่วนตัวของ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่นิ่งสุขุมด้วย ตามม็อตโตทหารรบพิเศษที่ว่า ‘พลังเงียบ เฉียบขาด’ นั่นเอง

หนทางจากนี้ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จึงล้ำลึกยิ่งนัก !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog