ไม่พบผลการค้นหา
ชวนอ่าน Social Class in the 21st Century เมื่องานวิจัย 400 หน้า จะเปิดโปงว่าแท้จริงแล้วความเหลื่อมล้ำในมิติของมนุษย์ชนชั้นกลางที่พยายามจะกระเสือกกระสน ‘ปีนขึ้นไป’ และ ‘ไม่ตกลงมา’ เป็นยังไง

สาบานเลยว่านี่คือหนึ่งในคำตอบของคำถามสำคัญที่พวกคุณตามหากันมาตลอดชีวิต เราจะแจงแบบไม่มีกั๊กเลยว่าคุณต้องการสินทรัพย์มากน้อยแค่ไหนในการจะก้าวไปเป็น 'ผู้ลากมากดีชนชั้นสามัญ' หรือประชากร 6 เปอร์เซ็นต์สูงสุดบนยอดพิรามิดแห่งอิสรภาพทางการเงิน ซึ่งถ้าจะให้ลองคิดตัวเลขเร็วๆ ก็ประมาณ 3.99 ล้านคน (คิดยอดเต็มตามตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 ที่ 66.5 ล้านคน)

ทั้งนี้ ต้องออกตัวก่อนว่าเนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นข้อมูลงานวิจัยของประชากรในสหราชอาณาจักร การนำมาแปลงเทียบกับบริบทของประเทศไทยไม่สามารถทำได้อย่างตรงตัวเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ แต่ประเด็นก็คือนอกจากเพลงที่เป็นภาษาสากล ความเหลื่อมล้ำนี่ก็สากลมากนะ ไม่ต้องพูดภาษาเดียวกัน อยู่ประเทศเดียวกัน หรือมีรัฐบาลแบบเดียวกันก็รับรู้ความทุกข์ใจแสนสาหัสได้ไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น การนำข้อมูลของสหราชอาณาจักรมาเปิดให้คนไทยดูจะเป็นประโยชน์แน่นอน

การจะเป็นคนรวยแบบสามัญ หรือคนรวยทั่วๆ ไปที่นอนอาบแดดได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางสังคมของชาวตะวันตกที่ชอบแสดงความรวยผ่านการไปอาบแดด ถ้าจะเทียบกลับมาเป็นไทยช่วงนี้ก็คงถ่ายรูปลงอินสตาแกรมติดนู่นบ้างนี่บ้างแบบไม่ตั้งใจ เอาเป็นว่าบางคนที่รวยก็ไม่ทำ เดี๋ยวจะหาว่าเป็นการเหมารวม (Stereotype) ไปอีก ซึ่งไม่ได้สนับสนุนแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นพวกคุณก็ไปตัดสินใจเอาเองแล้วกันว่าวิถีชีวิตแบบคนรวยสามัญที่อยู่สูงมากๆ แล้วของสังคม แต่ก็ยังไม่สูงที่สุดควรจะเป็นยังไง

ส่วนเรื่องเงินนั้น ครัวเรือน (1-3 คน) ต้องมีรายได้หลังหักภาษีต่างๆ ปีละประมาณ 3.4 ล้านบาท คิดเลขมาให้แล้วตกเดือนละ 280,000 บาท ซึ่งไปส่องๆ มา งานแถบผู้จัดการในนิคมอุตสาหกรรมก็ได้เยอะอยู่นะ ถ้าหาดูดีๆ ก็ยังมีอีกหลายงาน แน่นอนการเป็นเจ้าของกิจการก็รวมอยู่ในนั้นด้วย นอกจากนี้มูลค่าบ้านของคุณรวมแล้วต้องอยู่ที่ 12.4 ล้านบาท และมีเงินเก็บทั่วไปในบัญชีเงินฝากอีกสัก 5.4 ล้านบาท

ยินดีด้วยคุณได้เลื่อนขั้นทางสังคมแล้ว!!! ...แต่แค่หนึ่งในสามส่วนนะ และเปล่าคุณไม่ได้ต้องมีเงินมากกว่านี้ ก็บอกแล้วไงว่านี่คือคำตอบเลย

ให้พอดิบพอดีในช่วงกึ่งกลางงานวิจัยจำนวน 400 หน้า ภายใต้บทที่ชื่อว่า 'ปีนภูเขา' ผู้เขียนหันมายกตัวอย่างชีวิตของ 'ลูอิส' หญิงสาวคนหนึ่งที่เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยขั้นต่ำสุดในอุตสาหกรรมความงาม ก่อนจะถีบตัวเองขึ้นมานั่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้วยเงินเดือนต่ำๆ 9.6 ล้านบาท/ปี

เธอกล่าวในการสัมภาษณ์กับผู้เขียนว่าสังคมชั้นสูงเหล่านี้ไม่กังขาเรื่องความสามารถของเธอ และตัวเธอเองก็ภูมิใจและไม่เคยปิดบังที่มาของตัวเอง พร้อมย้ำว่า "แทบทุกคนรู้ว่าตอนช่วง 14 ปี ฉันทั้งอ่านและเขียนไม่ได้ ทำอันนั้นก็ไม่ได้ ทำอันนี้ก็ไม่ได้ และฉันคิดจริงๆ ว่าฉันได้รับความเคารพจากสิ่งเหล่านี้" แต่ความภาคภูมิใจ ความสำเร็จ หยาดเหงื่อแรงกายที่ทุ่มไปกลับกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่มาในรูปแบบของเครื่องขวางกั้นทางสังคม

ลูอิส ก้าวขึ้นมามีเงินเดือนปีละเกือบสิบล้านบาทได้ เธอทำได้และด้วยความเคารพเรายกย่องเธออย่างสุดซึ้ง แต่ลูอิสผู้เก่งกาจก็มีเรื่องที่ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน เธอพูดคุยเรื่องศิลปะไม่ได้ ตีกอล์ฟไม่เป็น ไม่นึกอยากวิจารณ์ทริปท่องเที่ยวล่าสุด หรือถกเถียงอย่างออกรสออกชาติว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียนที่ไหน เธอทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเธอไม่มีเงิน แต่เพราะเธอไม่มี 'ต้นทุน'

เราไม่ได้ลืมบอกคุณไปใช่ไหมว่า หากอ้างอิงตามหนังสือเล่มนี้ชนชั้นทางสังคมไม่ได้ประกอบไปด้วยต้นทุนตัวเลขเงินฝากหรือทรัพย์สิน (Economic Capital) เท่านั้น คุณยังต้องมีอีกสองปัจจัยสำคัญอย่างต้นทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) และต้นทุนทางสังคม (Social Capital)

การมีเงินอย่างเดียวทำให้คุณขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับ 'ผู้ลากมากดีชนชั้นสามัญ' ได้ แต่คุณจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นจริงๆ 'ลูอิส' ไปตีกอล์ฟกับคนเหล่านั้นไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเธอไม่มีเงินจ้างครูสอนตีกอล์ฟ แต่เพราะเธอไม่เคยอยู่ในสังคมนี้ตลอดชีวิตที่ผ่านมาซึ่งมันดันกลายเป็นเครื่องกีดขวางการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ไปแล้ว

สังคมที่คุณทุ่มแททั้งชีวิตแทบทุกมิติเพื่อให้ได้มาอยู่ ก่อนจะพบว่าคุณอาจไม่มีวันได้อยู่ในโลกใบนั้น แม้จะเดินมายืนบนโลกใบนั้นแล้วก็ตาม

แม้เรื่องราวของลูอิสควรจะเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของการปีนบันได ซึ่งเรียกว่าปีนภูเขาตามชื่อบทของหนังสือก็อาจจะชัดเจนกว่าว่าความยากลำบากที่ต้องเจอคืออะไร แต่ความยิ่งใหญ่น่าเคารพเหล่านั้นกลับกลายเป็นต้นตอของปัญหาทางจิตวิทยาของการไม่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไปอีก คุณอาจจะบอกว่าเอาเถอะ แค่มีเงินเยอะก็ดีแล้ว จะประสาทเสียไปบ้างก็ชั่งมันเพราะตอนจนก็ประสาทกินทุกวันอยู่แล้ว นั่นก็ไม่ผิด แต่เรามีอีกหนึ่งตัวเลือกมาให้ด้วยเพราะคำตอบมันไม่ได้มีข้อเดียวเสมอไปหรอกจริงไหม

จริงอยู่ที่การเลื่อนขั้น(ขึ้น)ไปทางสังคมเป็นเรื่องที่หลายคนต้องการ แต่จริงๆ แล้ว การได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่อยู่และแค่ไม่ 'ตกลงไป' มันก็ดีไม่น้อยอยู่แล้ว เพราะชนชั้นทางสังคมด้วยตัวของมันไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนจะเที่ยวออกมาแสดงออกอย่างภาคภูมิใจว่าฉันเป็นใครอยู่ในชนชั้นไหน

หลักใหญ่ใจความของชนชั้นทางสังคมกลับผูกโยงอยู่กับสิ่งที่มันกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาเชิงอารมณ์และศีลธรรม หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นคือ คุณไม่ได้กลัวการขึ้นไปไม่ถึงชนชั้นสูง หรือติดอยู่กับชนชั้นกลางไปตลอดชีวิตมากเท่ากับการที่คุณกลัวจะตกลงไปอยู่ในชนชั้นแรงงานต่างหาก

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าคุณต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะเป็นชนชั้นแรงงาน เราเลยขอหยิบข้อมูลวิจัยที่เกี่ยวข้องจาก ดร.เดชรัต สุขกำเนิด มาวาดภาพบางอย่างให้ดูแทนแล้วกัน ภายใต้งานสำรวจที่ชื่อว่า 'แนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19' ผู้วิจัยแบ่งระดับรายได้ของประชากรออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน
  • 10,001-30,000 บาท/เดือน
  • 30,001-50,000 บาท/เดือน
  • 50,001-70,000 บาท/เดือน
  • มากกว่า 70,000 บาท/เดือน

เรื่องของเรื่องคือเราหาตัวเลขมาให้คุณดูแล้ว ที่เหลือคุณเลือกเองเลยว่าระดับเงินเดือนเท่าไหร่ ตัวคุณจะพิจารณาจัดว่าเป็นชนชั้นแรงงาน แต่ถ้าจะให้พูดถึงระดับความยากจนแบบแร้นแค้น (Extreme Poverty) อันนี้ใช้ระดับรายรับตามธนาคารโลกกับเส้นความจนที่ราว 60 บาท/วัน วัดได้เลย

ส่วนตัวเลือกสุดท้าย แท้จริงแล้วก็เป็นคำตอบที่มาในช่วงท้ายของหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน เมื่อผู้เขียนพบว่า เวลาพูดคุยถึงเรื่องชนชั้นกับผู้คน ประเด็นมักจะถูกเบี่ยงจากพวกเขาเหล่านั้นคิดว่าตนเองอยู่ในชนชั้นอะไรเป็น "ผมมองผู้คนเป็นผู้คน" หรืออีกนัยคือจากการพยายามจัดกลุ่มชนชั้นคนแบบที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน กลายเป็นการพูดคุยเรื่อง 'แนวคิดของชนชั้น' ราวกับเป็นทฤษฎีที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีจริง ผ่านสิ่งที่เรียกว่า 'ปัจเจกนิยม' (Individualism)

เนื่องจากชนชั้นทางสังคมที่สิ่งที่มองและประเมินเข้ามาจากสายตาของความเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เมื่อเปลี่ยนเป็นมุมมองในเชิงปัจเจกจึงไม่มีทางจะจับใครมาอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งแก้ปัญหาชนชั้นได้อย่างทันท่วงทีเลย แก้ง่ายๆ ด้วยการมองให้ไม่เห็นมันไปก็จบ ก็ถ้าไม่มองบุคคลหนึ่งๆ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมตั้งแต่แรก ระบบชนชั้นวรรณะก็ไม่มีแล้วไง จบเลยเห็นไหม ทำไมที่ผ่านมาคิดกันไม่ได้กันนะ

อ่านมาถึงตรงนี้เราเชื่อว่าพวกคุณคงได้คำตอบกันแล้วว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นทางสังคมทั้งซับซ้อนและเรียกร้องการศึกษามากกว่าแค่มิติเรื่องการเงิน แต่คือทั้งองคาพยบของทุกศาสตร์ เศรษฐศาสตร์อธิบายการทำมาหากิน สังคมศาสตร์เรื่องชนชั้น ประวัติศาสตร์เรื่องที่มาและความเป็นไป จิตวิทยาเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และอีกมากมาย

ส่วนคำถามว่าจะเลื่อนชนชั้นทางสังคมยังไงก็สรุปง่ายๆ ว่าหาเงินเพิ่ม เสพศิลป์แบบผู้มั่งมี ออกกำลังกายที่สอดคล้องกับคนเหล่านั้น รู้จักคนที่ควรต้องรู้จัก ที่พูดมาทั้งหมดนี่คือการเหมารวมเลยนะ ชนชั้นมั่งมีหลายคนไม่ได้ทำแบบนี้ด้วยซ้ำ แต่นั่นเป็นปัญหาที่เราจะหาเวลามาตอบทีหลัง

คำถามสุดท้ายจริงๆ คือคุณอยากเลื่อนชนชั้นทางสังคมจริงๆ หรือ เมื่อความเคลื่อนไหวตลอดช่วงที่ผ่านมาคือการเรียกร้องความเสมอภาค